พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีสดุดีวีรชนในวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ณ บริเวณลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕
เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในช่วงนั้นชาติตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลสำคัญทางแถบเอเชีย โดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญ คือการแสวงหาอาณานิคม ประเทศต่าง ๆ เช่น ญวน เขมร ลาว ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนพม่าและมลายูตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สำหรับประเทศไทย ได้ถูกชาติมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสเข้ามารุกราน โดยในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๓๖ เรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำ คือเรือสลุปแองคองสตังค์ และเรือปืนโคแมต ได้รุกล้ำสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามายังกรุงเทพฯ และได้เกิดการปะทะกับฝ่ายไทย ทั้งหมู่ปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และเรือรบไทยที่จอดอยู่เหนือป้อมพระจุลจอมเกล้า จำนวน ๙ ลำ ผลปรากฏว่า เรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมต ที่ได้รับความเสียหายบางส่วน สามารถตีฝ่าแนวป้องกันที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาได้จนถึงกรุงเทพฯ และเทียบท่าอยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส โดยมีทหารประจำเรือเสียชีวิตรวม ๓ นาย และเรือนำร่องถูกยิงเกยตื้นอยู่ริมฝั่ง ส่วนฝ่ายไทยเรือที่ได้รับความเสียหายจากกระสุนปืนใหญ่จากฝ่ายตรงข้าม จำนวน ๔ ลำ ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ไทยกับฝรั่งเศสก็ได้ยุติการสู้รบกันเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และเป็นเหตุให้ไทยเราต้องเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนมากโดยที่ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการดำรงไว้ซึ่งเอกราช ประกอบด้วยดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อันได้แก่ ประเทศลาวปัจจุบัน ในพื้นที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ และอาณาเขตนครจำปาศักดิ์ตะวันออก ตลอดจนบรรดาเกาะแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง คิดเป็นพื้นที่ ๑๔๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร
เหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังความโทมนัสและเสียพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าการว่าจ้างชาวต่างประเทศเป็นผู้บังคับการเรือ และป้อมนั้นไม่เป็นหลักประกันพอที่จะรักษาประเทศได้ สมควรที่จะต้องบำรุงกำลังทหารเรือไว้ป้องกันภัยด้านทะเล และต้องใช้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศทั้งหมด และการที่จะให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศได้นั้นต้องมีการศึกษาฝึกหัดเป็นอย่างดีจึงจะใช้การได้ จึงทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ออกไปศึกษาวิชาการ ทั้งในด้านการปกครอง การทหารบก การทหารเรือ และอื่น ๆ ในทวีปยุโรป รวมทั้งได้ทำการฝึกนายทหารเรือไทย เพื่อปฏิบัติงานแทนชาวต่างประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้กิจการทหารเรือมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศตราบจนปัจจุบัน
เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น กองทัพเรือ จึงได้จัดให้มีการจัดงาน “รำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒” ในวันอังคารที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือป้อมพระจุลจอมเกล้า ระหว่างเวลา ๑๓.๐๐ น. - ๒๑.๐๐ น. ประกอบด้วย พิธีวางพานพุ่มถวายสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีสดุดีวีรชนในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ พิธีสงฆ์ การเสวนาทางวิชาการ พิธีรำลึกปืนเสือหมอบ กิจกรรมการแสดง และพิธีย่ำพระสุริย์ศรี ในโอกาสนี้ กองทัพเรือ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ร่วมน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงนำพาให้ประเทศไทยให้เป็นเอกราช ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ และวีรกรรมอันหาญกล้าของบรรพชนทหารเรือ โดยภายในอาณาบริเวณของอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ประกอบด้วยสถานที่เหมาะแก่การศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีขนาดพระบรมรูปใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พิพิธภัณฑ์ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมปืนเสือหมอบ พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง ลานจัดแสดงอาวุธกลางแจ้ง และเส้นทางชมป่าชายเลนอันร่มรื่นและแวดล้อมด้วยสัตว์ประจำถิ่นนานาชนิด
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้