กองทัพเรือได้จัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันนวมินทรมหาราช เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมจัดกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จัดพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุและสามเณร จำนวน ๘๙ รูป พิธีสวดพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ณ บริเวณลานทัศนาภิรมย์ หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๖
โดยช่วงเช้า พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุและสามเณร โดยนิมนต์พระสงฆ์จาก วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร จำนวน ๕๐ รูป วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร จำนวน ๒๐ รูป และวัดชิโนรสารามวรวิหาร จำนวน ๑๙ รูป รวมทั้งสิ้น จำนวน ๘๙ รูป ณ ลานทัศนาภิรมย์ หอประชุมกองทัพเรือ โดยมี นางกีรตา พันธุ์เอี่ยม นายกสมาคมภริยาทหารเรือ และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือพร้อมภริยา เข้าร่วมพิธี
ต่อมา ผู้บัญชาการทหารเรือ และ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ได้นำคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือพร้อมภริยา ร่วมพิธีสวดพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยมีพระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิโท) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแผ่ไพศาลต่อพสกนิกรชาวไทย กองทัพเรือนับเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพเรือสร้างเรือยนต์รักษาฝั่งไว้ใช้ได้เองโดยไม่ต้องจัดหาจากต่างประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ.๒๕๑๐ กรมอู่ทหารเรือ สามารถสร้างเรือยนต์รักษาฝั่งได้จำนวน ๑ ลำ คือ เรือ ต.๙๑ โดยพระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำในการสร้างเรื่อยมาจนกระทั่งการต่อเรือเสร็จสมบูรณ์ และสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้พระองค์ได้มีพระราชดำรัสที่สำคัญตอนหนึ่งว่า “บรรดาเรือรบที่ใช้ในราชการ เป็นเรือที่สั่งทำจากต่างประเทศ การที่ราชการกองทัพเรือสามารถเริ่มการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งขึ้นใช้ในราชการได้เช่นนี้ จึงควรเป็นที่น่ายินดี และน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง นับว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าของกองทัพเรือ”
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนพระทัยและทรงเอาใจใส่ต่อกองทัพเรือเป็นอย่างยิ่ง ดังพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า “เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสม และสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๙๑ ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้น และสร้างเพิ่มเติม” กองทัพเรือจึงได้น้อมรับใส่เกล้าฯ และนำไปดำเนินการจนเกิดเป็นโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๙๙๑ ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติของกองทัพเรือ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระอัจฉริยภาพในด้านการต่อเรือของพระองค์ท่าน เป็นที่ประจักษ์แก่กำลังพลกองทัพเรือ นับตั้งแต่เริ่มโครงการ เรือ ต.๙๑ จนถึงเรือ ต.๙๙๑ พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้แก้ไขแบบลายเส้น และรูปทรงของเรือ ซึ่งผลที่ได้จากการคำนวณเป็นไปตามที่ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการคำนวณเดิม ปรากฏว่า เรือ ต.๙๙๑ มีความเร็วเพิ่มขึ้น และประหยัดเชื้อเพลิงได้ร้อยละ ๖ ทั้งนี้ กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จฯ ไปทรงวางกระดูกงูเรือ ต.๙๙๑ ที่กรมอู่ทหารเรือด้วยพระองค์เอง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเรือชุดถัดไป หลังจากนั้นในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ พระองค์ท่านและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเป็นประธานพิธีปล่อยเรือ ต.๙๙๑ ลงน้ำ อันเป็นความปลื้มปีติแก่เหล่าทหารเรืออย่างหาที่สุดมิได้ รวมทั้งทำให้กองทัพเรือสามารถพัฒนาศักยภาพการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.๙๙๔ (ต.๙๙๔ - ต.๙๙๖) และชุดเรือ ต.๙๙๗ (ต.๙๙๗ - ต.๙๙๘) รวมถึงเรือลำอื่น ๆ ที่ใช้ในราชการกองทัพเรือต่อมาตราบจนปัจจุบัน
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้