วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ เรือประมงชื่ออนันตศักดิ์ อับปางกลางทะเลระยองเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๔โดยเรือประมงที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงได้ให้ความช่วยเหลือลูกเรือที่พลัดตกน้ำได้ ๓ คน เป็นคนไทย ๑ คน และต่างชาติ ๒ คน จากการตรวจสอบพบว่ายังมีลูกเรือสูญหายอีก ๔ คน
ในการนี้ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค ๑ (ศรชล.ภาค ๑) ได้ประสานทัพเรือภาคที่ ๑ (ทรภ.๑) จัดเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ต.๒๖๔ (เรือ ต.๒๖๔) จากหมวดเรือลาดตระเวนชายแดนส่วนที่ ๒ เข้าค้นหาและช่วยเหลือผู้สูญหาย บริเวณแบริ่ง ๑๙๐ ระยะ ๓๒ ไมล์จากกระโจมไฟแหลมปู่เจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นจุดที่เรืออัปปางอย่างเร่งด่วน

เมื่อถึงพื้นที่ที่เรืออัปปางได้ทำการค้นหาแบบ Square Search เป็นเวลา ๔ ชั่วโมง ผลการค้นหาไม่พบผู้สูญหายดังกล่าว ในขณะทำการค้นหาพบว่ามีเรือประมงชื่อ “รัตนมณีรุ่ง” เฝ้าบริเวณจุดที่เรืออัปปาง จึงได้ทำเครื่องหมายเรืออัปปางไว้ โดยเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ทัพเรือภาคที่ ๑ ยังคงสั่งการให้เรือ ต.๒๖๔ ออกเรือไปค้นหาผู้สูญหาย แต่เนื่องจากคาดการณ์ว่าผู้สูญหาญอาจติดอยู่ในเรือ ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีระดับน้ำลึกมาก จึงต้องอาศัยนักดำน้ำที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานใต้น้ำในระดับน้ำลึก จึงได้จัดนักประดาน้ำ EOD จากกรมสรรพาวุธทหารเรือ จำนวน ๒ นาย ลงไปพร้อมกับเรือ ต.๒๖๔ จากรายงานเบื้องต้นของนักประดาน้ำที่ดำลงไปสำรวจบริเวณซากเรือพบว่าระดับน้ำลึกประมาณ ๓๐ - ๔๐ เมตร ประกอบกับมีอวน เชือก และเส้นเอ็น จำนวนมาก ปกคลุมรอบเรือ รัศมีประมาณ ๑๐ เมตร ซึ่งเป็นข้อจำกัด และเป็นอันตรายต่อการเข้าไปปฏิบัติงาน ประกอบกับสภาพน้ำที่ขุ่น ไม่สามารถเข้าไปสำรวจภายในตัวเรือได้ มีความจำเป็นต้องขอสนับสนุนอุปกรณ์ และ นักประดาน้ำเพิ่มเติมในการตัดอวนและเชือกเพื่อเข้าไปค้นหาผู้ที่สูญหายทั้ง ๔ คนภายในตัวเรือได้ปลอดภัย จึงได้บันทึกภาพและวีดิโอไว้เพื่อนำมาวางแผนค้นหาต่อไป นอกจากนี้ จากการสำรวจค้นหาบริเวณภายนอกตัวเรือยังไม่พบลูกเรือจำนวน ๔ คนดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ทัพเรือภาคที่ ๑ ได้มีการจัดประชุมกับหน่วยงานภายใน ทร. และ ศรชล.ภาค ๑ เพื่อวางแผนเตรียมการค้นหาผู้สูญหายบริเวณจุดที่เรือประมงอับปาง โดยมีแผนที่ออกเรือและลงดำค้นหาอีกครั้งในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ การนี้ ทัพเรือภาคที่ ๑ ขอความร่วมมือจากกลุ่มเรือประมงในพื้นที่ให้ช่วยกัน ค้นหาลูกเรือที่สูญหาย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประมงในทะเลเป็นอย่างดี

สำหรับในช่วงเช้าของวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ทัพเรือภาคที่ ๑ จะจัดเรือหลวงมันนอกและนักประดาน้ำ EOD จำนวน ๒๓ นาย พร้อมอุปกรณ์ตัดอวน เชือก และเอ็น ออกไปทำการดำค้นหาผู้ที่สูญหาญที่คาดว่าจะติดอยู่ในซากเรือประมงที่อับปาง โดยกำจัดอวน เชือก และอวนที่อยู่บริเวณรอบเรืออับปาง เพื่อที่จะได้ค้นหาและช่วยเหลือหากเจอผู้สูญหายดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งได้นำห้องปรับความดันบรรยากาศสูงขนาดเล็ก (Hyperbaric Chamber) เพื่อสำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเกิดอุบัติเหตุระหว่างการปฏิบัติงานใต้น้ำของนักประดาน้ำ หรือกรณีพบผู้สูญหายที่มีชีวิตอยู่และเจ้าหน้าที่พยาบาลลงความเห็นต้องเข้าห้องปรับความดันฯ ทันที เพื่อความปลอดภัยของผู้ประสบอุบัติเหตุดังกล่าวในขณะอยู่ในทะเล นอกจากนั้นในส่วนของฐานทัพเรือสัตหีบได้สนับสนุนและเตรียมศูนย์อาภากร ในการสนับสนุนแพทย์และพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ของกองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุดังกล่าวจากทะเลมารักษาตัวบนฝั่งต่อไป และซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ ของกองทัพเรือ นั้น ล้วนแล้วแต่ใช้กำลังพลที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานใต้น้ำที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างหนัก เป็นเวลานาน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อภารกิจที่ยากลำบากได้เป็นอย่างดี รวมถึงการนำยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ที่มาจากภาษีของพี่น้องประชาชน ซึ่งในภาวะปกตินำมาช่วยเหลือประชาชนทางทะเลและเกาะแก่งต่าง ๆ ในทุกโอกาสให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด อย่างเช่นเหตุการณ์ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะพี่น้องชาวประมงผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับทะเล
ทั้งนี้ กองทัพเรือ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนรัฐบาลและให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือ ในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้วยทรัพยากรต่าง ๆ ของกองทัพเรือ เพื่อส่งมอบคุณค่าให้แก่ประชาชนและสังคม เป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ โดย มีเป้าหมายที่สำคัญคือ "รวมใจภักดิ์ รักชาติ ราษฎร์ศรัทธา"