ค้นหา
ปกติ
ขาวดำ
ดำเหลือง
ขนาดตัวอักษร

ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การต้อนรับ Mr. Andreas Hastrup ทายาทลำดับเหลนของนายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดูว์ แปลซี เดอ ริเชอลีเยอ ) ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากองทัพเรือไทย

ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การต้อนรับ Mr. Andreas Hastrup ทายาทลำดับเหลนของนายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดูว์ แปลซี เดอ ริเชอลีเยอ ) ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากองทัพเรือไทย

พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือให้การต้อนรับ Mr. Andreas Hastrup ชาวเดนมาร์ก ทายาทลำดับเหลนของ นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากองทัพเรือ ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร  เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ 
 
  
 
  

  

  

  

นายพลเรือโท พระยาชลยุทธ์โยธินทร์

โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือมอบหมายให้ พลเรือโท ชาติชาย ทองสะอาด รองเสนาธิการทหารเรือ นำชมพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ที่พลเรือโทพระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ก่อนเดินทางไปเยี่ยมชมป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่ง นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ เคยทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบและจัดหาปืนเสือหมอบมาติดตั้ง เพื่อปกป้องอธิปไตยของสยามประเทศในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ โดยก่อนหน้านี้ Mr. Andreas Hastrup ได้มอบเครื่องแบบของนายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ จำนวน ๕ ชุด ให้แก่กองทัพเรือ เพื่อนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙

  

  

  

  

นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ นามเดิม อองเดร ดูว์ แปลซี เดอ ริเชอลีเยอ เป็นชาวเดนมาร์ก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการปรับปรุงกิจการทหาร กัปตันริเชอลีเยอ ซึ่งจบการศึกษาในวิชาการทหารเรือ มีความประสงค์ที่จะเข้ามาทํางานในประเทศสยาม จึงได้ขอรับพระราชทานพระราชหัตถเลขาจากพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ แห่งประเทศเดนมาร์ก เพื่อใช้ประกอบในการสมัครรับราชการ โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการเป็นผู้บังคับการเรือพิทยัมรณยุทธ ตั้งแต่วันที่ ๓ เมษายน ๒๔๑๘ และนํานักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสไปตรวจสุริยุปราคาแถวชายฝั่งมลายู หลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์และเรือสยามมงกุฎไชยสิทธ์ออกไปรักษาการที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยที่ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ขณะปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนั้น ได้เกิดการจลาจลที่จังหวัดระนอง ซึ่งกัปตันริเชอลีเยอได้มีส่วนร่วมในการปราบจลาจลดังกล่าว
 
จากผลงานการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเข้มแข็ง หลวงชลยุทธโยธินทร์ จึงมีความก้าวหน้าในการรับราชการตามลำดับ โดยใน พ.ศ.๒๔๒๑ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงชลยุทธโยธินทร์ ดํารงตําแหน่งปลัดกรมแสง ปี พ.ศ.๒๔๒๕ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระชลยุทธโยธินทร์ พ.ศ.๒๔๒๖ ได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือเอก (เทียบเท่านาวาเอก ในปัจจุบัน) พ.ศ.๒๔๓๐ ได้รับตําแหน่ง ปลัดทัพเรือ พ.ศ.๒๔๓๑ ได้รับพระราชทานยศ “นายพลเรือจัตวา” พ.ศ.๒๔๓๔ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาชลยุทธโยธินทร์ พ.ศ.๒๔๔๐ ได้รับพระราชทานยศ “นายพลเรือตรี” พ.ศ.๒๔๔๑ โปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ พ.ศ.๓๔๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ
 
พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้ปฏิบัติราชการสำคัญในกองทัพเรือ อาทิ ผู้อํานวยการสร้างเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลําที่ ๑) เรือพาลีรั้งทวีป และ เรือสุครีพครองเมือง จากประเทศอังกฤษ ยังได้ขอพระราชทานพระราชวังเดิม เป็นที่ก่อตั้งโรงเรียนนายเรือ ซึ่งตามหลักฐานที่ปรากฎ ใน พ.ศ.๒๔๓๓ (ร.ศ.๑๐๙) ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาการทหารเรือขึ้นที่บริเวณพื้นที่วัดวงศมูลวิหาร จนถึง พ.ศ.๒๔๔๒ (ร.ศ.๑๑๘) จึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้นที่วัดวงศมูลวิหาร และยังได้ใช้เรือรบหลวงต่าง ๆ เป็นที่จัดการเรียนการสอนของนักเรียนนายเรือ อาทิ เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลําที่ ๑) เนื่องจากสถานที่คับแคบจึงได้มีการย้ายโรงเรียนนายเรือไปยังวังนันทอุทยาน ต่อมาในขณะที่นายพลเรือตรีพระยาชลยุทธโยธินทร์ ดํารงตําแหน่งผู้บังคับการกรมทหารเรือ ได้เล็งเห็นว่าการที่โรงเรียนนายเรือไม่มีที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง เป็นข้อจํากัดทางด้านการศึกษา จึงได้ริเริ่มในการจัดหาที่ตั้งโรงเรียนนายเรือให้เป็นหลักเป็นฐาน โดยเห็นว่าพื้นที่พระราชวังเดิมเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสม เนื่องด้วยมีที่ตั้งที่อยู่ติดแม่น้ำสามารถนําเรือมาเทียบและทําการฝึกได้ อีกทั้งมีที่ตั้งอยู่ใกล้ส่วนบัญชาการ สามารถกํากับดูแลปกป้องรักษาได้ง่าย จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานที่ดินดังกล่าว พระองค์ได้พระราชทานที่ดินพระราชวังเดิมให้กรมทหารเรือก่อตั้งโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๓  กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๓ (ร.ศ.๑๑๙) ในขณะที่ทําการซ่อมแซมอาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆในพระราชวังเดิม โรงเรียนนายเรือได้ย้ายไปอยู่ที่สุนันทาลัยชั่วคราว ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.๓๔๔๖ (ร.ศ.๑๒๑) จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ.๒ธ๔๖ (ร.ศ.๑๒๒) การซ่อมแซมจึงแล้วเสร็จ โรงเรียนนายเรือจึงได้ย้ายมาที่พระราชวังเดิม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๔๙
 
นอกจากนั้น พลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ ยังมีส่วนสำคัญในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ โดยทําหน้าที่ผู้อํานวยการป้องกันปากแม่น้ําเจ้าพระยา ขณะดํารงตําแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ โดยได้ออกแบบ และจัดหาปืนเสือหมอบ มาติดตั้ง ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า
 
ในด้านกิจการไฟฟ้าและรถราง เมื่อรัฐบาลสยามและผู้ประกอบการเอกชนประสบปัญหาขาดทุน และค่าใช้จ่ายในการเช่าเครื่องจักรไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงขึ้น พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้ระดมทุนจากชาวเดนมาร์ก ในการร่วมดําเนินการกิจการไฟฟ้าให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการดําเนินกิจการรถรางขึ้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมาได้รับเกียรติให้ใช้นาม “ชลยุทธโยธินทร์” เป็นนามเรือยนต์พระที่นั่ง (ปลดระวางเมื่อ ๘ สิงหาคม ๒๔๖๖)
 
ต่อมาในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๔ นายพลเรือโท  พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ เนื่องด้วยมีปัญหาด้านสุขภาพ ได้เดินทางกลับไปรักษาตัวที่ประเทศเดนมาร์คและได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๗๔ สิริอายุ ๗๙ ปี

บทความที่เกี่ยวข้อง

แบบสำรวจ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้