พลเรือตรี สรายุทธิ์ ทับเทศ ผู้อำนวยการอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือเป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนเรือผลักดันน้ำ จำนวน ๒๐ ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่จากอู่ทหารเรือธนบุรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เพื่อลำเลียงไปปฏิบัติภารกิจในการผลักดันน้ำในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีตามที่ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมขังจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำ คลอง ล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองและบริเวณที่ลุ่มต่ำของอำเภอสองพี่น้อง รวมถึงท่วมขังเส้นทางสัญจร ทำให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ณ วัดท่าเจดีย์ ตำบลบางเลน อำเภอสองพี่น้องจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๔
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ ในการส่งเรือผลักดันน้ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดสุพรรณบุรี ในการนี้ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้สั่งการให้กรมอู่ทหารเรือจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำและให้การสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจำนวน ๒๐ ลำ พร้อมกำลังพลอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์เพื่อปฏิบัติการผลักดันน้ำ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีโดยติดตั้งเรือผลักดันน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน หน้าวัดท่าเจดีย์ ตำบลบางเลน อำเภอสองพี่น้องจังหวัดสุพรรณบุรี โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ และในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และตามแผนบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม ๒๕๕๘ รวมทั้งเป็นไปตามคำสั่งการของ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ให้ทุกหน่วยของกองทัพเรือเตรียมความพร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ โดยเน้นให้ความช่วยเหลือประชาชน ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุจนสถานการณ์คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ และจากสถานการณ์น้ำท่วมขัง ในพื้นที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กองทัพเรือ ได้จัดส่งเรือผลักดันน้ำ จำนวน 26 ลำ ติดตั้งในพื้นที่อำเภอบางพลี จำนวน ๖ จุด เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกสู่แม่น้ำสายหลัก โดยติดตั้งบริเวณคลองลาดกระบัง ถนนบางนา - ตลาด จำนวน ๓ ลำ พื้นที่คลองลาดกระบัง ถนนสุวรรณภูมิ ๓ จำนวน ๓ ลำ พื้นที่คลองตรงถนนตำหรุ - บางพลี จำนวน ๔ ลำ พื้นที่คลองปลา จำนวน ๖ ลำ บริเวณสะพาน กู้พารา คลองสำโรง จำนวน ๔ ลำ และบริเวณสะพานวัดบางโฉลงนอก คลองสำโรง จำนวน ๖ ลำ โดยได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๔ เป็นต้นมา
สำหรับ เรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลาก มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ และจากองค์ความรู้ ในการสร้างเรือผลักดันน้ำ ทำให้กองทัพเรือสามารถสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น ๓ ขนาด คือขนาด ๓๒๐ แรงม้าผลักดันน้ำได้ ๑๕๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/วัน ขนาด ๒๒๐ แรงม้า ผลักดันน้ำได้ ๑๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/วัน และขนาด ๑๒๐ แรงม้า ผลักดันน้ำได้ ๓๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/วัน เรือผลักดันน้ำนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว

