พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ มอบนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖ แก่กำลังพลกองทัพเรือ รวมถึงถ่ายทอดสัญญาณไปยังห้องประชุมของหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและที่ประจำอยู่สำนักงานในต่างประเทศ ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕
ผู้บัญชาการทหารเรือกล่าวว่า จากสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงและสภาพปัญหาของกองทัพเรือในปัจจุบันมีความซับซ้อน ในขณะเดียวกันกองทัพเรือก็มีปัญหาสะสมบางประการ ซึ่งแม้ว่าผู้บริหารกองทัพเรือในอดีตจะพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการหรือสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ของกองทัพเรือ ดังนั้นเพื่อเป็นการวางรากฐานให้กองทัพเรือก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงในทิศทางที่ถูกต้อง จึงนำมาสู่การกำหนดนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖ ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือท่านที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างรากฐานที่มั่นคงของกองทัพเรือ และเพื่อให้กำลังพลทุกนายได้ร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของกองทัพเรือที่กำหนดไว้คือ เป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลที่มีบทบาทนำในภูมิภาคและเป็นเลิศในการบริหารจัดการ
สำหรับนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖ ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วน ๓ ด้าน และนโยบายหลัก ๙ ด้าน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
นโยบายเร่งด่วน ด้านที่ ๑ คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทัพเรือตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ จำนวน ๕ ข้อ ประกอบด้วย
ข้อ ๑ การพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อาทิ การสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานโครงการตามแนวพระราชดำริที่กองทัพเรือรับผิดชอบ การเตรียมการจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
ข้อ ๒ การพัฒนากองทัพและเสริมสร้างกำลังรบให้เป็นไปตามทิศทางยุทธศาสตร์กองทัพเรือ อาทิ การปรับปรุงโครงสร้างการจัดและแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือให้สอดคล้องกับแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือ พุทธศักราช ๒๕๖๓ และการปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ข้อ ๓ การพัฒนาการฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังรบให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ การดำรงการฝึกกองทัพเรือเพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังรบและระบบอำนวยการยุทธ์ รวมทั้งทดสอบแผนป้องกันประเทศด้านทิศตะวันออกในส่วนของกองทัพเรือ การสานต่อการพัฒนาการฝึกร่วมระหว่างกองทัพเรือกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และหน่วยงานในเครือข่าย ศรชล. ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ
ข้อ ๔ การดำรงความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบการทำสงครามที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง โดยเพิ่มเติมการแลกเปลี่ยนข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศร่วมกับภาคเอกชน การฝึกอบรมกำลังพลและวางระบบการจัดการความรู้ให้มีความพร้อมในการใช้งานระบบควบคุมบังคับบัญชาและสั่งการ การศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลและภาพสถานการณ์ ระหว่างศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือกับศูนย์ปฏิบัติการเหล่าทัพและศูนย์บัญชาการทางทหาร (ศบท.) การยกระดับขีดความสามารถด้านสงครามไซเบอร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ รองรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ การเสริมสร้างและบูรณาการขีดความสามารถด้านกิจการอวกาศและดาวเทียมร่วมกับกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ การจัดทำแนวทางการพัฒนาโครงการอากาศยานไร้คนขับของกองทัพเรือทั้งระบบ
ข้อ ๕ การส่งเสริมผลงานวิจัยและพัฒนาทางการทหาร ให้เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (S - Curve 11) โดยการนำผลงานวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มาทดลองใช้กับหน่วยการศึกษาและเตรียมการในการจัดสร้างเรือฟริเกต
โดยอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ การส่งเสริมการพัฒนาศูนย์นวัตกรรมทางเรือและทางทะเล ภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
นโยบายเร่งด่วน ด้านที่ ๒ คือ การเสริมสร้างความร่วมมือกับกองทัพเรือมิตรประเทศ เพื่อเพิ่มบทบาทนำในภูมิภาค
ข้อ ๑ การดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างสมดุล อาทิ การฟื้นฟูความสัมพันธ์และความร่วมมือกับกองทัพเรือมิตรประเทศการดำรงความต่อเนื่องในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับกองทัพเรือ การส่งเสริมให้ผู้บังคับหน่วยกำลังระดับภูมิภาคได้มีการกระชับความร่วมมือกับผู้บังคับหน่วยกำลังที่มีพื้นที่ปฏิบัติการติดต่อกัน ทั้ง Online และ Onsite
ข้อ ๒ การส่งเสริมให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) มีบทบาทนำร่วมกับหน่วยยามฝั่ง (Coast Guard) หรือหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลในระดับภูมิภาคและประเทศรอบบ้าน โดยส่งเสริมให้ ศรชล. เข้าร่วมกิจกรรมความร่วมมือของกองทัพเรือกับกองทัพเรือมิตรประเทศ
นโยบายเร่งด่วน ด้านที่ ๓ คือการเสริมสร้างการบริหารจัดการเพื่อเรียกความเชื่อมั่น ศรัทธาของประชาชน จำนวน ๕ ข้อ
ข้อ ๑ การเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใส ในระบบการบริหารและการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพเรือ ยกระดับมาตรฐานของกองทัพเรือ ในการดำเนินการตามการประเมินด้านคุณธรรมและความโปร่งใส หรือ ITA ปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วยงานและระบบการบริหารกำลังพล เพื่อรองรับการดำเนินโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ข้อ ๒ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการกำลังพลให้มีมาตรฐาน โดยพัฒนาระบบการประเมินสมรรถนะ (Competency) และผลการปฏิบัติงาน(Performance) กำลังพลให้มีมาตรฐาน การทบทวนและจัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพการงาน (Career Path) ของกำลังพลให้สามารถนำมาใช้ในการบริหารกำลังพลได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับ
ข้อ ๓ การยกระดับคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของกำลังพลกองทัพเรือ โดยการพัฒนาระบบการบริหาร จัดการบ้านพักข้าราชการให้มีประสิทธิภาพสำรวจและจัดทำโครงการระยะยาวสำหรับการก่อสร้างและซ่อมแซมที่พักอาศัยของกำลังพล ตลอดจนดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับกำลังพล เช่น ร้านธงฟ้าราคาประหยัด แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับกำลังพลกองทัพเรืออย่างยั่งยืน
ข้อ ๔ การส่งเสริมการตระหนักรู้ภาวะโลกร้อนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งสริมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม(Bio-Circular-Green : BCG) และการส่งเสริมเศรษฐกิจสีนํ้าเงิน (Blue Economy) รวมถึงการสนับสนุนหน่วยงานของกองทัพเรือ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทะเล ได้ตระหนักรู้ถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เช่น การลดขยะทะเลและชายฝั่ง
ข้อ ๕ การเสริมสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา ของประชาชนที่มีต่อกองทัพเรือ โดยการดำรงความต่อเนื่องในการดำเนินการเชิงรุกในการแบ่งมอบความรับผิดชอบพื้นที่ต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานของกองทัพเรือ อาทิ โครงการ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) และคลองสวยนํ้าใส บูรณาการงานประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารกับภาคประชาชน รวมถึงการสนับสนุนการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามวิถีทางของประชาธิปไตย
สำหรับนโยบายหลัก ๙ ด้าน มาจากยุทธศาสตร์กองทัพเรือพุทธศักราช ๒๕๖๐ - ๒๕๘๐ ซึ่งเป็นแผนแม่บทการพัฒนากองทัพเรือ ด้านต่าง ๆ และนโยบายกองทัพเรือระยะ ๕ ปี พุทธศักราช ๒๕๖๖ - ๒๕๗๐ มีแผนการดำเนินการที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราการจัดอัตรากำลังทดแทนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. การพัฒนาระบบการศึกษาของกองทัพเรือ การพัฒนาความร่วมมือด้านการข่าวในการแลกเปลี่ยนข่าวสารด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่องในทุกมิติทั้งในและต่างประเทศ การเตรียมกำลังและใช้กำลัง โดยพัฒนาการฝึกให้มีความสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงทะเล โดยมุ่งเน้นการฝึก ๖ ส่วนหลัก ได้แก่ด้านเรือดำนํ้า ด้านการปฏิบัติการสะเทินนํ้าสะเทินบก ด้านการป้องกันและควบคุมท่าเรือ ด้านการช่วยเหลือและกู้ภัยเรือดำนํ้า แนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือ พุทธศักราช ๒๕๖๓ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ การพัฒนาขีดความสามารถของฐานทัพท่าเรือและสถานีเรือต่าง ๆ และพัฒนาการฝึก ด้านการส่งกำลังบำรุง การดำรงความพร้อมของระบบควบคุมบังคับบัญชาสั่งการและสถานีตรวจการณ์ (C4ISR) ตามแนวความคิดของสงครามที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (NETWORK CENTRIC WARFARE : NCW) การพัฒนาขีดความสามารถและกลไกความร่วมมือการบริหารจัดการภัยพิบัติของกองทัพเรือ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมทางทหาร โดยให้ความสำคัญการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์หลัก/สำคัญ ที่สามารถนำไปสู่สายการผลิตและใช้ในราชการภายในกองทัพเรือ และการพัฒนาการบริหารจัดการภายในของกองทัพเรือให้มีมาตรฐานสากล เป็นองค์กรสมรรถนะสูงพร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ นโยบายผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบให้แก่หน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือนำไปขับเคลื่อน เพื่อมุ่งหวังให้บรรลุผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึง กำลังพลของกองทัพเรือทุกนายนำไปปฏิบัติ โดยการมุ่งเน้นการเป็นกองทัพเรือที่มีคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใส ตรวจสอบได้ (Integrity and Transparency Organization) เพื่อนำไปสู่การเป็น “กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่น ศรัทธา และภาคภูมิใจ - The Trusted Navy”