ค้นหา
ปกติ
ขาวดำ
ดำเหลือง
ขนาดตัวอักษร

โฆษกกองทัพเรือแถลงกองทัพเรือจัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน กองทัพเรือ" เร่งขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลระยอง

โฆษกกองทัพเรือแถลงกองทัพเรือจัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน กองทัพเรือ" เร่งขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลระยอง

พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน กองทัพเรือ (ศอปน.ทร.) เพื่อเร่งขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลระยอง โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย พลเรือตรี วิฉณุ ถูปาอ่าง ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคง กรมยุทธการทหารเรือ นางสาวพรพิมล เจริญส่ง ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ นายพิทักษ์ วัฒนพงศ์พิศาล ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า และ ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ณ ห้องโพธิ์สามต้น หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๕

 

 

 

โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ ท่อน้ำมันดิบใต้ทะเลของบริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด(มหาชน) มีน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ซึ่งเกิดเหตุเมื่อเวลา ๒๑.๐๖ น ของวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ เป็นเหตุให้น้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลในระดับ ๒ ของแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาตินั้น กรมเจ้าท่าในฐานะศูนย์ประสานงานการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ได้ประสานมายังกองทัพเรือเพื่อขอให้จัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ เพื่อดำเนินการขจัดคราบน้ำมันในบริเวณดังกล่าว ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ.๒๕๔๗ พร้อมขอรับการสนับสนุนอากาศยานเรือตรวจการณ์และเรือช่วยปฏิบัติงานขจัดคราบน้ำมันเพื่อปฏิบัติการในพื้นที่เกิดเหตุ ในการนี้กองทัพเรือจึงได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือจัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน กองทัพเรือ" หรือเรียกโดยย่อว่า ศอปน.ทร.ขึ้น โดยมีหน้าที่ในการอำนวยการกำกับการ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็สั่งการให้ทัพเรือภาคที่ ๑ จัดตั้ง "ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ ๑" (ศคปน.ทรภ.๑) หรือ On Scene Commander เพื่อทำหน้าที่กำหนดแผนและยุทธวิธีในการขจัดคราบน้ำมัน ปฏิบัติการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ ตลอดจนอำนวยการประสานกับส่วนราชการและหน่วยงานภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสั่งการหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕ เป็นต้นมาโดยจะปฏิบัติภารกิจจนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย

โดยการดำเนินการที่ผ่านมา ทัพเรือภาคที่ ๑ ได้ส่งเครื่องบินลาดตระเวนขึ้นบินสำรวจคราบน้ำมันทางอากาศและจัดเรือต.๒๗๓ กับเรือต.๒๒๘ ออกตรวจสอบคราบน้ำมันบนผิวน้ำ นอกจากนั้นได้จัดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำขึ้นบินตรวจสอบทิศทางการรั่วไหลของคราบน้ำมัน รวมถึงนำสารเคมี DASIC international SLICKGONE ขึ้นไปโปรยบริเวณพื้นที่เกิดเหตุหน้าท่าเรือมาบตาพุด นอกจากนั้นยังได้เตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์พร้อมในการสนับสนุนหน่วยต่าง ๆ ในการขจัดคราบน้ำมัน

 

 

ด้าน พลเรือตรี วิฉณุ ถูปาอ่าง ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคง กรมยุทธการทหารเรือ ได้เปิดเผยถึงการดำเนินการต่อไปสำหรับการดำเนินการต่อไปได้วางแผนการขจัดคราบน้ำมันในทะเล โดยแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่
๑. การขจัดกลุ่มคราบน้ำมันขนาดใหญ่ ดำเนินการโดยใช้ทุ่นลอบกัก แล้วใช้เครื่องดูดหรือ Skimmer ดูดคราบน้ำมันซึ่งถือว่าเป็นสารพิษอันตราย จากทะเลสู่ถังเก็บ แล้วนำส่งกรมอุตสาหกรรมเพื่อทำการทำลายต่อไป
๒. การขจัดกลุ่มคราบน้ำมันที่มีทิศทางการเคลื่อนที่ที่เป็นอันตรายต่อชายฝั่งและพื้นที่เปราะบาง ดำเนินการโดยใช้ทุ่นล้อมเบี่ยงทิศการเคลื่อนที่ให้ออกห่างจุดเปราะบางไปสู่ทะเลเปิด แล้วทำการล้อมดักและดูดไปทำลายตามกระบวนการต่อไป
สำหรับแผนการขจัดคราบน้ำมันบริเวณชายฝั่ง แบ่งเป็น ๒ ลักษณะ โดยแยกเป็นพื้นที่ชายฝั่งในทะเล ได้ประสานกับทางจังหวัดในการใช้ทุ่นล้อมกันขึ้นฝั่ง ไม่ให้คราบน้ำมันขึ้นสู่ชายฝั่งซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และพื้นที่ชายฝั่งบนบก บริเวณที่เป็นหินจะใช้การฉีดน้ำให้คราบน้ำมันรวมตัวกัน แล้วตักเก็บไปทำลายบริเวณที่เป็นหาดทรายจะใช้รถแบ็คโฮลตักคราบน้ำมันที่ปะปนกับทรายแล้วนำไปทำลาย ทั้งนี้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะต้องสวมชุดป้องกันและสามารถปฏิบัติงานได้เพียง ๔ ชั่วโมง ต่อวันเท่านั้น เนื่องจากสารพิษจะเป็นอันตรายต่อร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน

ในขณะที่นายพิทักษ์ วัฒนพงศ์พิศาล ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า กล่าวว่าเราได้ระงับการรั่วไหล ปิดวาล์วได้หมด พร้อมเฝ้าระวังมลพิษ ที่ค่อนข้างมีปริมาณมาก จึงยกระดับให้กองทัพเรือเป็นหน่วยบัญชาการเหตุการณ์เร่งด่วน คือ การเฝ้าระวังการเคลื่อนไหว ดูทิศทางการเคลื่อนที่และคลื่นลมว่าจะไปทางใดและปริมาณที่ลงทะเลแพร่กระจายมากน้อยแค่ไหน

ด้าน นางสาว พรพิมล เจริญส่ง ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยถึงแนวทางของกรมควบคุมมลพิษ คือ
๑. ตรวจสอบค่าน้ำทะเล
๒. ให้อนุญาตสำหรับปริมาณการใช้สารขจัดคราบน้ำมัน โดยสารดิสเพอร์แซนท์ โดยครั้งนี้ใช้ใน อัตรา ๑:๑๐
๓. จัดทำแผนฟื้นฟู

ในส่วนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยถึงความกังวลของคราบน้ำมันที่จะส่งผลทรัพยากรใต้ทะเลที่มีแนวปาการัง ๑๕๐ ไร่ และ ย่าทะเล ๓๐๐ ไร่ พร้อมยืนยันว่าจะมีการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งการดำเนินการและทรัพยากรที่เสียหาย และในระยะยาวจะมีการตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรขึ้นมาดูแล

บทความที่เกี่ยวข้อง

แบบสำรวจ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้