ค้นหา
ปกติ
ขาวดำ
ดำเหลือง
ขนาดตัวอักษร

ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานประกอบพิธีนำเรือ ต.๙๔ และเรือ ต.๙๕ ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล

พลเรือเอก อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ประธานกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นประธานประกอบพิธีนำเรือ ต.๙๔ และเรือ ต.๙๕ ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล บริเวณทิศตะวันออกของเกาะจวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย คณะกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้แทนหน่วยงานสนองพระดำริ ตลอดจนกำลังพลกองทัพเรือ หน่วยงานสนองพระดำริ ประชาชน นักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่กว่า ๓๐๐ คน ร่วมในพิธีดังกล่าว ณ สโมสรสัญญาบัตร กองเรือยุทธการ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๗

สำหรับพิธีนำเรือ ต.๙๔ และเรือ ต.๙๕ ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ประกอบด้วย พิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน และพิธีเปิด โครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล การจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานสนองพระดำริ นิทรรศการประวัติเรือ ต.๙๔ และเรือ ต.๙๕ ณ สโมสรสัญญาบัตร กองเรือยุทธการ และพิธีจัดวางเรือ ต.๙๔ และเรือ ต.๙๕ บริเวณเกาะจวง พิธีกล่าวอำลา พิธีวางพวงมาลา การเป่าแตรนอน การให้สัญญาณชักหวูดนำเรือลงใต้ทะเล การเปิดแพรคลุมป้ายโครงการ ฯ บริเวณชายหาดเกาะจวง และการปล่อยน้ำเข้าเรือเพื่อนำเรือลงสู่ใต้ทะเล ณ เรือหลวงกระบุรี

โครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีแด่พระบรมวงศานุวงศ์ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดยนำเรือ ต.๙๔ และเรือ ต.๙๕ ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลชายฝั่ง เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อนุบาลหรือยึดเกาะของตัวอ่อนปะการัง รวมทั้งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเลในพื้นที่จังหวัดชลบุรีแห่งใหม่ เป็นการขยายกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แออัด อันจะทำให้ปะการังได้มีเวลาพักฟื้นและเจริญเติบโตต่อไป

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย และทรงห่วงใยปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล จึงโปรดให้มีการจัดตั้งมูลนิธิและโครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ได้รับการอนุรักษ์ รวมทั้งได้รับการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลไม่ถูกทำลาย ทั้งยังเป็นการกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนได้เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเล นำไปสู่ความสมดุลทางธรรมชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไป

กองทัพเรือได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จึงได้จัดทำโครงการนำเรือ ต.๙๔ และเรือ ต.๙๕ ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ณ บริเวณทิศตะวันออกของเกาะจวง ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อสนองพระดำริที่ทรงมีเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย โดยทรงห่วงใยปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล การทำร้ายสัตว์ทะเลด้วยน้ำมือมนุษย์โดยตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นแหล่งฝึกศึกษาให้กับนักเรียนฝึกดำน้ำ เป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแห่งใหม่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นการลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวดำน้ำในแนวปะการังตามธรรมชาติ และเปิดโอกาสในการพักฟื้นตัวของแหล่งท่องเที่ยวแนวปะการังธรรมชาติให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีต่อไป

เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.๙๔ และ ต.๙๕ เป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๙๑ ซึ่งประกอบด้วยเรือ ต.๙๑, เรือ ต.๙๒, เรือ ต.๙๓, เรือ ต.๙๔, เรือ ต.๙๕, เรือ ต.๙๖, เรือ ต.๙๗, เรือ ต.๙๘ และเรือ ต.๙๙ รวมทั้งสิ้น ๙ ลำ สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ - ๒๕๓๐ นับเป็นเรือตรวจการณ์สมัยใหม่ชุดแรกที่กองทัพเรือไทยสร้างเองในประเทศ ตามพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่กองทัพเรือไทยเป็นล้นพ้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่า กองทัพเรือเราควรต่อเรือประเภทนี้ไว้ใช้เองบ้าง ทั้งนี้ด้วยเรือยนต์รักษาฝั่งมีบทบาทสำคัญ เช่น ในการปราบปรามและป้องกันการลักลอบลำเลียงอาวุธ และกำลังคนของฝ่ายก่อการร้ายเข้ามาในน่านน้ำอาณาเขตของประเทศเรา

ในระหว่างการต่อเรือ ต.๙๑ กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ โดยทรงให้สถาบันวิจัยและทดสอบแบบเรือของต่างประเทศช่วยทดสอบแบบเรือลำนี้ทางเทคนิคต่าง ๆ ให้  และได้พระราชทานคำแนะนำ จนถึงทรงร่วมทดลองเรือในทะเลด้วยพระองค์เอง กองทัพเรือยังคงสานต่อพระราชปณิธานอย่างต่อเนื่องสืบมา ในการปรับปรุงแบบเรือและสร้างเพิ่มเติม เช่น เรือ ต.๙๒, ต.๙๓, ต.๙๔, ต.๙๕, ต.๙๖, ต.๙๗, ต.๙๘, ต.๙๙, ต.๙๙๑, ต.๙๙๔  ซึ่งทำให้กองทัพเรือสามารถสร้างเรือรบเองได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างรั้วทางทะเลให้เข้มแข็ง ทั้งยังทำให้องค์บุคคลของกองทัพเรือได้มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และก้าวไปสู่การต่อเรือขนาดใหญ่ต่อไป

สำหรับ เรือ ต.๙๔ ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ และปลดประจำการเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ และเรือ ต.๙๕ ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๕ และปลดประจำการเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ โดยเรือทั้ง ๒ ลำ สังกัดหมวดเรือที่ ๒ กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ

Related Articles

แบบสำรวจ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้