พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ รับฟังการแถลงผลและเป็นประธานปิดการฝึกกองทัพเรือประจำปี ๒๕๖๕ โดยมี พลเรือเอก ธีรกุล กาญจนะ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๖๕ ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อทางกองอำนวยการฝึก จะได้นำไปปรับใช้กับการฝึกกองทัพเรือ ในครั้งต่อไป ณ ห้องบริพัตร อาคารสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕




สำหรับการฝึกกองทัพเรือเป็นการบูรณาการการฝึก ด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ และการปฏิบัติหน้าที่ของกรมในส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ทุกหน่วยสามารถปฏิบัติงานร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในการฝึก ทร.๖๕ และ ทร.๖๖ ได้กำหนดรูปแบบการฝึกเป็นวงรอบการฝึก ๒ ปี ภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันแบบต่อเนื่อง โดยการฝึก ทร.65 เป็นการฝึกในปีแรกตามวงรอบการจัดการฝึก ๒ ปีดังกล่าว และใช้สถานการณ์การป้องกันประเทศด้านตะวันออก เพื่อทดสอบสถานการณ์ในภาวะปกติไปจนถึงขั้นความขัดแย้งระดับต่ำ โดยมุ่งเน้นการทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหารจนได้คำสั่งยุทธการ การเตรียมการในด้านต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่ภาวะสงคราม รวมถึงเป็นการฝึกเพื่อทดสอบการปฏิบัติและการบูรณาการฝึก ระหว่างกองทัพเรือกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. เมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น รวมทั้งการใช้กำลังใน ศรชล. เข้ามาร่วมปฏิบัติการกับ กองทัพเรือ นอกจากนั้นแล้วยังมี การฝึกขจัดคราบน้ำมันในทะเล การฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและมีแนวโน้มในอนาคตด้วย
โดยในปีนี้ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ เข้าร่วมการฝึกฯ ด้วยตนเองในทุกสถานการณ์ฝึก พร้อมทั้งได้มอบนโยบายการฝึกเพิ่มเติม โดยให้รวบรวมปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้องและบทเรียนจากการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ หรือ HADR ที่ผ่านมาให้มีการแก้ไขข้อขัดข้องจากการฝึกในครั้งที่ผ่านมา และมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมทำการฝึก ตลอดจนการปฏิบัติการสงครามไซเบอร์ และเพิ่มหัวข้อการฝึกเรื่องการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ เพื่อเตรียมการรองรับการเข้าประจำการของเรือดำน้ำ
สรุปแล้วการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๖๕ สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และนโยบายการฝึกได้ทุกประการ ซึ่งได้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลการฝึกในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์จนถึงระดับยุทธวิธี และยังเป็นการบูรณาการการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญตามภารกิจ บทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือ โดยเมื่อทำการฝึกเสร็จสิ้นแล้ว จะทำให้หน่วยงานทุกภาคส่วนและประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า กำลังรบของกองทัพเรือ จะมีความพร้อมในการปกป้องอธิปไตย รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป