เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พลเรือโท เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ ๓ พร้อมด้วยนายทหารฝ่ายอำนวยการ ได้ให้การต้อนรับ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน และคณะฯ ในการเข้าหารือข้อราชการพร้อมทั้งนำเสนอผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ช่วยในการอนุบาลลูกเต่าทะเลไม่ให้กัดกันขณะอยู่ในบ่อเลี้ยง พร้อมทั้งระบบ GPS ติดตามเต่าทะเลซึ่งทัพเรือภาคที่ ๓ โดย นาวาเอก สุรศักดิ์ อินทร์พรหม เมื่อดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองกิจการพิเศษ ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ ๓ ได้รับผิดชอบดูแลกิจการศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ ๓ และ นายหิรัญ กังแฮ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ได้ร่วมกันวิจัยวิธีการทำอย่างไรไม่ให้ลูกเต่าทะเลกัดกัน ขณะอยู่ในบ่อเลี้ยง จนสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ช่วยไม่ให้ลูกเต่าทะเลกัดกันได้เป็นผลสำเร็จ สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและสุขภาพของลูกเต่าได้เป็นอย่างดี จนนิตยสารระดับโลกได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย นับว่าเป็นผลสำเร็จอย่างดีในความพยายามช่วยชีวิตลูกเต่าทะเลให้แข็งแรงพร้อมที่จะปล่อยสู่โลกกว้างต่อไป เมื่อครบกำหนดเวลา ๖ เดือน – ๑ ปี
ในส่วนระบบติดตามตัวเต่าทะเลด้วย GPS นั้น ทางศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบนได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๑๐ ปี ทำให้ทราบถึงพฤติกรรมของเต่าทะเลในพื้นที่อันดามัน ซึ่งมักจะขึ้นมาวางไข่บนเกาะ ๑ (เกาะหูยง) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เป็นจำนวนมากกว่า ๑๒,๐๐๐ ฟองต่อปี และพบว่าแม่เต่าทะเลส่วนมากจะดำรงชีวิต และหากินวนเวียนอยู่โดยรอบของเกาะ ๑ ๒ และ ๓ ของหมู่เกาะสิมิลัน ที่ทัพเรือภาคที่ ๓ มีศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลอยู่บนเกาะ ๑ (เกาะหูยง) ตั้งอยู่
นับว่าการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลต่าง ๆ ล้วนเป็นงานที่มีความท้าทาย ซึ่งจำนวนลูกเต่าทะเลที่คาดว่าจะมีชีวิตรอดไปเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ต่อไข่เต่าที่ฟักออกมา นั้น มีอัตราส่วนถึง ๑ : ๑,๐๐๐ ทีเดียว
ขอเชิญชวนให้พวกเราชาวไทยทุกคนร่วมกันหวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คงอยู่ เพื่อรุ่นลูกหลานของเราได้เรียนรู้สืบไป