พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีทำบุญทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในวันกองทัพเรือประจำปี ๒๕๖๗ โดยมี อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ เข้าร่วมพิธี ฯ ณ ท้องพระโรง พระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
โดยได้กราบอาราธนาสมเด็จพระพุทธพจนาวชิรมุนีเจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์วรวิหาร ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์และพิธีทักษิณานุประทาน ร่วมด้วย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ประกอบด้วย พระพรหมวัชรเมธี วัดอรุณราชวราราม พระพรหมวชิรมุนี วัดสุทัศน์เทพวราราม พระพรหมวชิโรดม วัดโมลีโลกยาราม พระพรหมวชิรรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร พระธรรมวชิรเมธี วัดหงส์รัตนาราม พระราชปัญญารังษี วัดชิโนรสาราม พระราชวชิรธรรมวิเทศ วัดนาคปรก พระราชวัชรกิจจาภรณ์ วัดชนะสงครามและพระครูวินัยธรสายัณห์ อภิสายัณโห วัดเพลงวิปัสสนา
ต่อมา ผู้บัญชาการทหารเรือ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ พร้อมด้วย ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือและคู่สมรส ได้นำหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำบุญตักบาตร โดยได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๔๙ รูป
จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ และ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ได้ปล่อยพันธ์ุปลา จำนวน ๑๑๘ ตัว รวมถึงได้ปลูกต้นจิกน้ำ ในบริเวณพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี และประกอบพิธีบวงสรวงถวายราชสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในพระราชวังเดิม รวมถึง พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย ณ พระอนุสาวรีย์ ฯ หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ วังนันทอุทยาน เพื่อเป็นความสิริมงคล
ทั้งนี้ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ที่เข้าร่วมพิธีทำบุญประจำปีในวันนี้ประกอบด้วย พลเรือเอก ธีระ ห้าวเจริญ พลเรือเอก ประเสริฐ บุญทรง พลเรือเอก ทวีศักดิ์ โสมาภา พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม
เมื่อ ๑๑๘ ปีล่วงมาแล้ว ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนนายเรืออย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี และได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือ ความว่า “วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบต่อไปในภายหน้า”
กองทัพเรือ จึงได้ถือเอาวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันกองทัพเรือ และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการทหารเรือไทย ตามแบบอารยประเทศ ส่งผลให้มีการพัฒนาและมีความเจริญก้าวหน้าเป็นกองทัพเรือที่ทันสมัย เข้มแข็ง และมีเกียรติภูมิ
ย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่จะมีการก่อตั้งกองทัพเรือขึ้นในสยาม ยังมิได้มีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก จวบจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเริ่มมีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก
เมื่อครั้งเริ่มแรกตั้งกรมทหารเรือนั้น กิจการทหารเรือบางประเภทยังขาดบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญ จำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการตามตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ อาทิ ผู้บังคับการเรือและผู้บัญชาการป้อมต่าง ๆ
ต่อมา ภายหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (ปีพุทธศักราช ๒๔๓๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า กิจการของทหารเรือเท่าที่อาศัยชาวต่างประเทศเข้ามาประจำตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ นั้น ไม่อาจที่จะหวังในด้านการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย ให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ในเรือแทนชาวต่างชาติที่จ้างไว้ต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรส เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังประเทศอังกฤษ
ภายหลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือ และกลับมารับราชการในกรมทหารเรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมทหารเรือ จัดการฝึกสอนวิชาการทหารเรือขึ้น โดยเริ่มตั้งโรงเรียนขึ้นครั้งแรกที่บริเวณอู่หลวงใต้วัดระฆัง ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ สำหรับอบรมนายทหารชั้นประทวน หรือฝ่ายช่างกลและเดินเรือ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๓๔ ได้ตั้งโรงเรียนนายสิบขึ้น และในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ ได้จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารเรือขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ ได้จัดตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้น สถานที่ตั้งโรงเรียนนายเรือครั้งแรก อยู่ที่วังนันทอุทยาน (สวนอนันต์) มีนาวาโท ไซเดอลิน (Seidelin) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือคนแรก ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นที่ประทับได้ว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทาน พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๓ เป็นต้นมา
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิทักษ์รักษา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ การปฏิบัติภารกิจการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงและรักษาผลประโยชน์ของชาติ และการสนับสนุนนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนซึ่งถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญยิ่ง
สำหรับในปีงบประมาณ ๒๕๖๘ นี้ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานและนโยบายให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์กองทัพเรือที่ครอบคลุมภารกิจของกองทัพเรือทั้ง ๕ ด้าน ได้แก่ การพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ การเตรียมกำลังและป้องกันราชอาณาจักร การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การสนับสนุนการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ การสนับสนุนการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชนรวมถึงจะดูแลสิทธิประโยชน์สวัสดิการกำลังพลทุกระดับเพื่อให้มีขวัญกำลังใจที่จะร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดคำขวัญประจำปี ๒๕๖๘ ว่า “เทิดทูนสถาบัน ป้องกันรัฐ พัฒนาชาติ ราษฎร์ศรัทธา Monarchy Country Government People”
รวมทั้งกำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งความปลอดภัยของกองทัพเรือหรือ Navy Savety 2025 ในทุก ๆ ด้าน เพื่อนำไปสู่การเป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ รวมถึงเป็นหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ทะเลไทยปลอดภัยและมีความมั่นคงตลอดไป
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้