พลเรือโท สำเริง จันทร์โส ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ ๒ มอบหมายให้ นาวาเอก กิตติพันธ์ กุลศิริปัญโญ ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน ทัพเรือภาคที่ ๒ ร่วมโครงการประชุมเชิงปฎิบัติการบูรณาการ ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และซักซ้อมแผนอุบัติเหตุหมู่จากสารเคมีรั่วไหล ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ โดยทัพเรือภาคที่ ๒ ได้ส่งกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์จาก แผนกดับเพลิง กองขนส่งฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ ๒ และกำลังพลจาก กองรักษาความปลอดภัย ฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ ๒ เข้าร่วมการฝึกซ้อม ณ ที่ว่าการอำเภอสิงหนคร ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔
สารเคมีชนิดต่าง ๆ มีมากมายหลายชนิดด้วยกัน ทั้งไม่ก่อให้เกิดอันตราย และก่อให้เกิดอันตรายชนิดทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอนามัยต่อผู้ปฏิบัติงาน สารเคมีเข้าสู่ร่างกายผ่านทางไหนได้บ้าง
๑. ทางการหายใจ สารเคมีที่เกิดจากการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ จะแผ่กระจายได้ดีผ่านทางอากาศ เมื่อสูดหายใจเข้าไปก็จะได้รับสารเคมีผ่านทางเดินหายใจ ตกค้างสะสมในปอด เป็นอันตรายต่อชีวิตพนักงานในระยะยาว
๒. ทางผิวหนัง มีโอกาสดูดซึมสารเคมีได้ผ่านการสัมผัส แต่ยังน้อยกว่าทางการหายใจ ผิวหนังของคนเราเป็นหนึ่งในเกราะป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย ฉะนั้น สารเคมีที่มีความรุนแรงบางชนิดเท่านั้น จึงจะเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ลึก และส่งผลกระทบต่อสุขภาพชีวิตพนักงาน แต่ก็อย่าได้วางใจ เมื่อสัมผัสกับสารเคมี ต้องรีบล้างทำความสะอาดทันที
๓. ทางการรับประทาน สำหรับทางนี้มีโอกาสน้อยมากในภาวะปกติที่จะได้รับสารเคมีผ่านการรับประทานเข้าทางปาก นอกจากประสบอุบัติเหตุ เผลอสัมผัสสารเคมีด้วยมือเปล่าแล้วหยิบจับอาหารใส่เข้าปากโดยตรง
วิธีการป้องกันอันตรายจากสารเคมี
๑. การสวมหน้ากากอนามัยสำหรับกรองสารเคมี เพื่อเป็นการป้องกันการได้รับสารเคมีผ่านทางระบบทางเดินหายใจ
๒. การสวมใส่ชุด PVC ถุงมือเซฟตี้ ป้องกันร่างกายจากการสัมผัสสารเคมีโดยตรง
๓. หากสัมผัสโดนสารเคมีโดยตรง ต้องรีบทำความสะอาดผิวหนังที่โดนสารเคมี ตามขั้นตอนการทำความสะอาด หรือการปฐมพยาบาลผู้ถูกสารเคมี
๔.ใส่ผ้าปิดปาก อุปกรณ์ครอบตานิรภัย เพื่อป้องกันสารเคมีเข้าปาก และสารเคมีกระเด็นเข้าสู่ดวงตาโดยตรง