พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในโอกาสครบรอบวันพระราชสมภพ โดย มูลนิธิพระเจ้าตากสินมหาราชได้จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการช่วยกอบกู้อิสรภาพปลูกจิตสำนึกในการรู้รัก สามัคคี ของคนในชาติ ณ วัดอินทารามวรวิหาร แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๕
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรืออีกพระนามคือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ พระราชสมภพ ในวันอาทิตย์เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำปีขาล จุลศักราช ๑๐๙๖ ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๒๗๗ ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงมีพระนามเดิมว่า "สิน" พระบิดาเป็นพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว นามว่า "นายไหฮอง แซ่แต้" พระมารดา เป็นหญิงไทยนามว่า "นกเอี้ยง"
ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ พระองค์ได้รวบรวมเสบียง และกำลังคนได้ราว ๕,๐๐๐ นาย ยกทัพเรือล่องมาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และยึดเมืองธนบุรีจากพม่าได้สำเร็จ จากนั้น พระองค์ได้ยกทัพเรือต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะสามารถเข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้น และขับไล่ทหารพม่าออกไปจากราชอาณาจักร สามารถกอบกู้เอกราชได้สำเร็จภายในเวลา ๗ เดือน นับตั้งแต่ที่เสียกรุงทรงตั้งราชธานีใหม่ ขนานนามว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" และทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๐ ในพระชนมายุ ๓๔ พรรษา ทรงเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ และพระราชกรณียกิจหลังจากนั้นของพระองค์ คือการปราบปรามก๊กต่าง ๆ ที่แตกแยกเป็นฝ่าย เพื่อรวบรวมให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน และฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากทำสงครามกับพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงครองราชย์ได้ ๑๕ ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ สิริพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา ตลอดรัชสมัย
ภายหลังการกอบกู้อิสรภาพของชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันทรงคุณอนันต์ ทรงแผ่พระบารมีปกเกล้าให้บังเกิดความสงบร่มเย็นแก่ชาติบ้านเมืองตลอดมา พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านการรบเพื่อป้องกันบ้านเมืองและปราบปรามชุมนุมคนไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ ก่อให้เกิดความปลอดภัยและสร้างความเป็นเอกภาพ ทรงฟื้นฟูทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีสภาพดีเหมือนกับสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังทรงติดต่อค้าขายกับนานาชาติและขยายอาณาเขตโดยมีกรุงธนบุรีเป็นศูนย์กลางกลางบริหารราชการแผ่นดิน พระองค์ได้ทรงรวบรวมช่างฝีมือที่ยังหลงเหลือจากกรุงเก่าทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามพระราชวังและงานฝีมือต่าง ๆ ทั้งยังรวบรวมขุนนางผู้รู้ธรรมเนียมในสมัยกรุงศรีอยุธยาเข้ารับราชการ ทรงนิมนต์พระสงฆ์ ผู้มีความรู้ปฏิรูปพระพุทธศาสนาและทำการคัดลอกพระไตรปิฎก นอกจากนี้ยังทรงฟื้นฟูศิลปะการละครและศิลปกรรม จึงอาจกล่าวได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีคุณูปการแก่ประเทศชาติเป็นอเนกอนันต์ ประชาชนชาวไทยต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยถวายพระราชสมัญญานามว่ามหาราชและถือเอาวันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"
ในส่วนของ มูลนิธิพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานขึ้นในวันนี้ ได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ โดยมี พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานกรรมมูลนิธิฯ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหลัก คือ “สร้างโรงพยาบาล ดูแลทหาร บูรณะวัดวาอาราม” ซึ่งที่ผ่านมากรรมการมูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานสำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างและอุปถัมภ์โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่จังหวัดตาก การช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ พิการจากการสู้รบเพื่อปกป้องประเทศชาติ ฯลฯ ปัจจุบันมูลนิธิฯ มี พลเรือเอก วสินธ์ สาริกะภูติ เป็นประธานกรรมการ ฯ ลำดับที่ ๔ กรรมการประกอบด้วย พลเรือเอก ประพฤติพร อักษรมัต นายอเนก สีหามาตย์ รองศาสตราจารย์ พิชนี โพธารามิก นายจักรกริช ชุติมันต์ นางสิรินดา จูภาวัง รวมทั้งนายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ นักธุรกิจ รวม ๒๒ ท่าน โดยมีวัตถุประสงค์เพิ่มจากวัตถุประสงค์เดิมคือเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและเผยแผ่ พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยให้ปรากฏแก่สาธารณชนและนานาอารยประเทศ โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดปัจจุบันได้ดำเนินการงานที่สำคัญได้แก่ โครงการร่วมกับกองทัพเรือจัดงาน ๒๕๐ ปี ตามรอยกองเรือยกพลขึ้นบกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจากจันทบุรีสู่อยุธยา การจัดสร้างศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ สำหรับในปี พุทธศักราช ๒๕๖๕ มูลนิธิฯ ได้จัดทำโครงการ รวม ๒ โครงการ คือ โครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป ๓๒ องค์ ในอุโบสถหลังเก่า (สมัยอยุธยา) วัดอินทารามวรวิหาร และโครงการศูนย์การเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอินทารามวรวิหาร เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูล รวมถึงเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของบูรพกษัตริย์ไทย
สำหรับวัดอินทาราม เป็นวัดสำคัญของสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เป็นวัดอนุสรณ์สันติสถานที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงประกอบพระราชกุศล มีโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์หลายอย่างด้วยกันที่นับว่าสำคัญน่าชมและศึกษา คือพระแท่นบรรทมไสยาสน์ เป็นพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับแรมทรงศีล และทรงเจริญกรรมฐาน ประวัติที่น่าศึกษาของวัดนี้คือ เป็นที่ประดิษฐาน (ฝัง) พระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๗ และบรมศพพระอัครมเหสีของพระองค์ ก็ได้ถวายพระเพลิงและบรรจุพระบรมอัฐิไว้ ณ วัดนี้ทั้งสองพระองค์ วัดอินทาราม นับได้ว่าเป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้