พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นประธานในพิธีวางกระดูกงูเรือปฏิบัติการความเร็วสูงบริเวณชายฝั่ง ลำที่ ๗ - ๑๒ จำนวน ๖ ลำ โดยมี พลเรือตรี วิฉณุ ถูปาอ่าง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ให้การต้อนรับ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๖
สำหรับโครงการจ้างสร้างเรือปฏิบัติการความเร็วสูงบริเวณชายฝั่ง จำนวน ๑๕ ลำ ได้ดำเนินการสร้างเรือตามลำดับแผนงาน ซึ่งที่ผ่านมา การสร้างเรือ ๖ ลำแรก เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด โดยมีพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ซึ่งเรือปฏิบัติการความเร็วสูงบริเวณชายฝั่ง ชุดใหม่นี้ ศรชล. ได้จัดหาเพื่อให้สามารถตอบสนองภารกิจได้หลากหลายในการจัดการแก้ไขปัญหา รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐในการป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหา รับมือสถานการณ์ หรือการกระทำผิดกฎหมายที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเล การช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งปฏิบัติการอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย จึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดหาเรือปฏิบัติการความเร็วสูงบริเวณชายฝั่งที่มีคุณลักษณะเฉพาะ คือ มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการเหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ทางทะเลและพื้นที่ปฏิบัติการของประเทศไทย และสามารถตอบสนองภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นเรือพยาบาลและส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ ปฏิบัติการใกล้ฝั่งในพื้นที่ของจังหวัดชายทะเล มีความสามารถทนทะเลสามารถปฏิบัติการในสภาวะคลื่นลมแรง มีความเร็วสูง มีระยะปฏิบัติการทางทะเลได้อย่างต่อเนื่องพอสมควร มีระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงานบนเรือซึ่งต้องปฏิบัติงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้หลากหลายตามภารกิจ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา
คุณลักษณะที่สำคัญของเรือปฏิบัติการความเร็วสูงบริเวณชายฝั่ง ทั้ง ๑๕ ลำ คือ มีความคล่องตัวสูง สามารถเข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว สามารถเกยฝั่งและออกจากฝั่งเพื่อเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายในการรับ - ส่ง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานหรือผู้ประสบภัยในพื้นที่บริเวณชายฝั่งและลำน้ำได้เป็นอย่างดี ไม่มีส่วนของระบบขับเคลื่อนใต้แนวน้ำที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ประสบภัยในน้ำ สามารถปฏิบัติการในพื้นที่บริเวณชายฝั่งและลำน้ำได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเรือมีความยาวตลอดลำถึง ๑๒.๒๙ เมตร ความกว้าง ๓.๔๘ เมตร กินน้ำลึกสูงสุด ๐.๖๕ เมตร สามารถออกปฏิบัติการที่ระยะปฏิบัติการได้ถึง ๒๕๐ ไมล์ทะเล และสามารถวิ่งได้ความเร็วสูงสุดได้ถึง ๔๑ น็อต มีความมั่นคงและปลอดภัยสูงเป็นพิเศษ มีความคงทนทางทะเลไม่น้อยกว่าระดับ ๓ (Sea State 3) โดยสามารถรองรับผู้ปฏิบัติงานและผู้โดยสารหรือผู้ประสบภัยทางทะเลได้ ๑๐ คน มีพื้นที่สำหรับติดตั้งเตียงหรือเปลพยาบาลแบบเคลื่อนที่ได้สำหรับผู้ประสบภัย พร้อมด้วยชุดเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครัน
ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหน่วยงานภายในสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยเป็นหน่วยราชการในรูปแบบเฉพาะ มีลักษณะเป็นการบูรณาการการปฏิบัติงานจาก ๗ หน่วยงานหลัก คือ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยปัจจุบัน ศรชล. นับเป็นหน่วยงานหลักและเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาล และรับผิดชอบการดำเนินการที่มีเอกภาพ สามารถบูรณาการการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ในเขตทางทะเลที่มีลักษณะที่หลากหลาย และประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตย รวมทั้งสิทธิหน้าที่อื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีอยู่อย่างมากมาย ในด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากร ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมีภารกิจหลักในการป้องกันภัย ๙ ด้าน ประกอบด้วย ๑.การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธ ๒.การทำการประมงผิดกฎหมาย ๓.การก่อการร้ายในทะเล ๔.การเข้าเมืองผิดกฎหมาย ๕.การเกิดอุบัติเหตุและการกู้ภัยทางทะเล ๖.การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ๗.การบังคับใช้แรงงาน แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ในทะเล ๘.การลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายเข้าประเทศ ๙.การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้