ค้นหา
ปกติ
ขาวดำ
ดำเหลือง
ขนาดตัวอักษร

วีรชนกองทัพเรือ

กองร้อยปืนเล็กที่ 3 สามารถยึดที่หมาย บนยอดเขาภูลมโลเหนือ ได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2515

ยุทธการสามชัย เป็นการปฏิบัติการจริงที่แฝงมาในคำว่าฝึก มีชื่อเป็นทางการ ว่า " การฝึกร่วม ๑๖" เป็นการปราบ ผกค. ในพื้นที่ภาคเหนือบริเวณรอยต่อ ๓ จังหวัด คือ เพชรบูรณ์,พิษณุโลก และ เลย ปฏิบัติการในห้วง เวลา ปลายปี ๑๕ ถึง ต้นปี ๑๖ (๓ ก.ค. ๑๕ - ๒๙ ม.ค. ๑๖) ใช้ งป. ปี ๑๖ นับว่าเป็น ยุทธการแรก ที่ นย. ได้มีโอกาส ไปร่วมปราบปราม ผกค. กับ กำลัง ทบ. (ทภ.๓) และ ทอ. ในพื้นที่ป่าภูเขาซึ่งอยู่ห่างไกลที่ตั้งของตนเอง และมีภูมิประเทศที่แตกต่างจาก ชายฝั่ง ทะเล ที่ นย. มีความ คุ้นเคย
จากเอกสารการบรรยายสรุปของ น.อ.ประชา กนิษฐชาต ผบ.ผส.นย. ที่บรรยายสรุปให้ ผบ.ทร. และ นายทหารผู้ใหญ่ ของ ทร. ทราบ เกี่ยวกับยุทธการสามชัย หรือ การฝึกร่วม ๑๖ เมื่อ ๑๕ พ.ย.๑๕ เวลา ๑๐๐๐ ณ ห้องประชุม ส่วนบัญชาการ ทร. จะช่วยให้ทราบสาเหตุความเป็นมาที่ ทบ. ขอให้ ทร. จัด นย. ไปร่วม ปฏิบัติการตลอดจนภูมิหลังต่าง ๆ ที่พอให้คนรุ่นหลัง ได้ทราบ เช่น
- เมื่อกลาง มิ.ย. ๑๕ กำลัง ของ นย. เพิ่งกลับจากการฝึกทดสอบแผนในการปฏิบัติการในภาคใต้ก็ได้รับคำสั่งให้ไปวางแผนกับ ทบ. ใน การฝึกร่วม ๑๖ ที่ ศปก.ทบ. เมื่อ ๒๙ มิ.ย.๑๕ ทันที
- จากเอกสารลับมากของ บก.ทหาร สูงสุด และจากคำกล่าวของ ผอ.ฝร.๑๖ ในการประชุมวางแผน ฝึกร่วม ๑๖ มี สาระ สำคัญ ว่า "ทบ. ไม่มีเวลาพักผ่อนในการปราบปราม ผกค. โดยเฉพาะในเขต ทภ.๓ ขอให้ ทร. ได้ช่วยบ้าง เพื่อให้ ทบ. ได้มีเวลาพักผ่อนตามสมควร"
ประสพการณ์ ของ นย. ผบ.ผส.นย. ท่านกล่าว ในที่ ประชุม ศปก.ทบ. ว่า
- เกาหลีก็ไม่มีโอกาสไป
- เวียดนามก็ไม่ได้ไป
ประสบการณ์จึงไม่มีแต่จะทำให้ดีที่สุด งบประมาณไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่การฝึกเตรียมเพราะกลับตัวแทบไม่ทัน
การประกอบกำลัง และยอดกำลังพล จัดเป็น ๓ ส่วนใหญ่ ๆ โดยเฉพาะการจัดกำลังในส่วน ที่ ๒ และ ๓ นั้น เป็นการจัดที่ประหยัดกำลังพลมาก
๑. พัน.ฉก.นย. (๑๐๖๑ ไม่รวม มว.บ.ฉก.)
- ๑ พัน.ร.ผส.นย. (พัน.ร.๑ เป็นแกนจัด บก.พัน. มี ๓ ร้อย.ปล. จัดจาก พัน.ร.๑ , พัน.ร.๓ และ พัน.ร.๗ กองพันละ ๑ ร้อย.ปล.)
- ๑ ร้อย.ป.๑๐๕ มม.
- ๑ มว.พ.
- ๑ มว.ลาดตระเวน
- ๑ มว.ช่าง
- ๑ มว.บินเฉพาะกิจ (มว.บ.ฉก. จัดจาก กบร.กร. มี บ.ตรวจการณ์ โอ.๑ จำนวน ๓ เครื่อง)
๒. ชุดสนับสนุนการช่วยรบ (๓๓) มีหน้าที่คล้ายส่วนสนับสนุนทางการช่วยรบของการจัด กำลัง ยกพลขึ้นบก
๓. ประจำ กกล.เขต ทภ.๓ (๒๖)
กำลังส่วนนี้มีชื่อเรียกภายใน นย. ว่า บก.กกล.นย. ทำหน้าที่ควบคุมกำลัง ของ ทร. ทั้งหมดที่เข้าปฏิบัติการในยุทธการสามชัย
- ในขั้นการฝึกเตรียมทำหน้าที่เป็นกองอำนวยการฝึก
- ในขั้นปฏิบัติการจริง แปลสภาพกำลังพล เข้าไป อยู่ใน บก.กกล.เขต ทภ.๓ (ส่วนหน้า)
- บก.ผส.นย. เป็นแกนหลักในการจัดกำลังและมีนายทหารจากกองพันและหน่วยต่าง ๆ ของ ผส.นย. มาร่วมด้วย ดยมี ผบ.ผส.นย. เป็น ผบ.หน่วย
การฝึกเพื่อเตรียมรบ เนื่องจาก นย. ยังขาดประสบการณ์ ในการรบจริงเป็นหน่วยใหญ่ และ พื้นที่ปฏิบัติการ ก็แตกต่างจากที่ นย. คุ้นเคยอีกทั้งเป็นงานใหญ่ งานแรกจึงพลาดไม่ได้ แพ้ไม่ได้ดังนั้น ผบ.ผส.นย. ท่านจึงเน้นการฝึกเตรียมเป็นหัวใจสำคัญที่สุด และถือได้ว่าการฝึกเตรียมสำหรับยุทธการสามชัย เป็นการฝึกเตรียม เพื่อการปฏิบัติการรบที่สมบูรณ์ที่สุด ที่ นย. เคยกระทำมาจนกระทั่ง บัดนี้ (พ.ศ.๒๕๔๐) โดยแบ่ง การฝึก ออกเป็น ขั้น ๆ ดังนี้
ขั้นที่ ๑ เป็นการ ฝึกเตรียม ตั้งแต่ ๓ ก.ค. - ๒๕ ส.ค.๑๕ ณ พื้นที่ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี , อ.แกลง จว.ระยอง และ อ.มะขาม อ.โป่งน้ำร้อน จว.จันทบุรี กระทำ การฝึก ในเรื่องต่าง ๆ
๑. อาวุธศึกษา และ การยิง อาวุธ ทุกชนิด
๒. แผนที่เข็มทิศ
๓. การปฐมพยาบาล
๔. วัตถุระเบิดและกับระเบิด
๕. สัญญาณ
๖. การต่อสู้ป้องกันตัว
๗. การเดินทาง ใน ป่า - ภูเขา และ การดำรงชีพ ในป่า
๘. การลาดตระเวน
๙. การเข้าฐานปฏิบัติการในป่า
๑๐. การซุ่มโจมตี และการต่อต้านการซุ่มโจมตี
๑๑. การเข้าตีที่มั่นแข็งแรง
๑๒. การปฏิบัติโดยฉับพลัน
จัดการฝึกเป็นสถานีมีชุดครูฝึกประจำ ใช้หลักฐานการฝึกทั้งจาก ของ นย. สหรัฐ ฯ และ จาก หลักสูตรการรบ ในป่าของ ทบ.อังกฤษ ในช่วงหลังของการฝึกจัดเป็น หน่วยหมู่ หมวด กองร้อย ขั้นสุดท้าย กองร้อย ปฏิบัติการ ๕ วัน โดยไม่มีการเพิ่มเติมเสบียงให้ประส[การณ์ ตาง ๆ ที่ ทบ. และ ตชด. เคยประสบ จุดอ่อน จุดแข็ง ของ ผกค. จะได้รับการบอกเล่า ชี้แจง แก้ไข ป้องกัน และ เตรียมเอาไว้ ใช้รุก ตอบโต้ เช่น การยิง ปืนเล็ก ป้องกัน ฐานที่ตั้งในเวลากลางคืนไม่เห็นตัว อย่ายิง อย่าหยุด ตั้งฐานหลายวัน จะถูก ผกค. ตรวจพบ อย่าเดินตามเส้นทางจะโดนซุ่มโจมตีการเอาน้ำตามลำธาร ในภูมิประเทศแหล่งที่ สะดวกจะมี กับระเบิด หรือถูกซุ่มโจมตีการหาน้ำจากต้นกล้วย ฯลฯ
ผลการฝึก เป็นที่ น่าพอใจมาก
ขั้นที่ ๒ เป็นการฝึกในพื้นที่ปฏิบัติการ ตั้งแต่ ๖ - ๒๖ ก.ย.๑๕ โดย เคลื่อนกำลังไปฝึกที่ บริเวณ อ.หล่มเก่า และ อ.หล่มสัก จว.เพชขรบูรณ์ กำลัง ที่กระทำ การฝึก คือ ๒ กองร้อย ปืนเล็ก และ ๑ หมวด ลาดตระเวน เป็นการฝึกในลักษณะ ปฏิบัติการจริง ใช้กระสุนจริง และพื้นที่ป่าเขา ของพื้นที่ปฏิบัติการจริง แต่เป็นชายขอบพื้นที่ที่ ผกค. ไม่มีการปฏิบัติการหนาแน่นทำการฝึกในขนาดหน่วย หมวด ปล. ปฏิบัติการ ๕ - ๖ วัน โดยไม่ส่งกำลังบำรุงในลักษณะการลาดตระเวนรบ ค้นหาทำลาย ผลการฝึกในขั้นนี้ได้ประโยชน์มากทำให้กำลังพลได้ทราบลักษณะ ภูมิประเทศ จริง ๆ เช่น
- ป่าไม่ทึบเกินไ เมื่อเปรียบเทียบ กับ ป่าเขา บริเวณ อ.มะขาม และ อ.โป่งน้ำร้อน แล้วทึบ กว่ามาก (เมื่อปี ๒๕๑๕ มิใช่ ปัจจุบัน ๒๕๔๐)
- ภูเขาสูงชันไม่เป็นอุปสรรคแก่ทหารนาวิกโยธิน เพราะได้ฝึกปืนเขาที่จันทบุรี ซึ่งสูงมาก ๆ มาแล้ว ทุกคน
- กำลังพลมีความมานะ อดทนสูงอย่างน่าชมเชย สามารถแบกสัมภาระ ต่างๆ ปืนขึ้นเขาลงเขาได้โดย ไม่บ่น
ผลการฝึกเป็นที่น่าพอใจมาก และการฝึกในขั้นนี้ทำให้พลนำทางชาวม้ง ที่ทาง ทภ.๓ เตรียมไว้ให้ นย.นั้น หมดความจำเป็นเนื่องจาก ชาวม้ง นำทางเหล่านี้รู้เฉพาะเส้นทางเดินที่เขาเคยใช้จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งเหมือนทางเดินตามชนบทพื้นราบ ซึ่ง นย. ไม่เดินตามนั้นเพราะจะไปเข้าที่ซุ่มโจมตี ของ ผกค. นย. เดินตามเข็มทิศตัดป่า มุ่งตรงไปหาที่ตั้ง ของ ผกค.
ขั้นที่ ๓ เป็นการฝึก เพิ่มเติม ตั้งแต่ ๘ - ๒๗ ต.ค.๑๕ เพื่อฝึกซ้ำและเพิ่มเติมที่ครั้งการให้เกิดความชำนาญ ขึ้นไปอีก ทำการฝึกในพื้นที่สัตหีบ ระยองและจันทบุรี วิช ที่ฝึก ได้แก่
๑. การขอ และ ปรับการยิง ปืนใหญ่ โดย ผบ.หมู่ และ ผบ.หมวด ทหารราบ
๒. การฝึก ใช้รหัส ทางการ สื่อสาร โดย ผบ.หมู่ และ ผบ.หมวด ทหารราบ
๓. การรบ บนภูเขา และป่า
๔. การยิงปืนในป่า
๕. การเข้าตีที่มั่นแข็งแรง
๖. การปฏิบัติโดยฉับพลัน
๗. การขว้างระเบิด
๘. การยิงปืนในเวลากลางคืน
๙. การฝึก พลแม่นปืน โดยให้ แต่ละหมู่ คัดเลือก พลทหาร และจ่าที่ยิงปืนแม่นมาทำการฝึกยิงเป้าจนชำนาญ ในลักษณะการยิง แบบพลแม่นปืน ซุ่มยิงจากการฝึกเตรียมอย่างเข้มข้น เช่นนี้ ทำให้กำลังพลทุกคน มีขวัญและกำลังใจดีมาก ทุกคนมีความมั่นใจในขีดความสามารถ ของ ตนเอง และของหน่วยมีความรักหมู่คณะสูง มีเรื่องและเหตุการณ์บางอย่างยืนยัน เช่น
เรื่องแรก เกี่ยวกับวินัยการยิงปืน เรากวดขัน มิให้ยิงปืนเพื่อเอาเสียงปืนเป็นเพื่อน หรือ เพื่อข่มความกลัว จะยิงเมื่อเห็นตัว มีเรื่องเล่ากันว่า พลทหารคนหนึ่งในการป้องกันฐานพักแรมคืนวันหนึ่ง ขณะมองเห็นตัว ผกค. ที่ด้อม ๆ เกาะฐาน และพยายามยิงปืนเพื่อให้พวกเรายิงตอบโต้จะได้เป็นการเปิดเผยแนวป้องกันฝ่ายเราก็เงียบ ทหารคนหนึ่ มองเห็น ผกค. ยังอุตส่าห์กระซิบ ผบ.หมู่ ขออนุญาตยิงปืน เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่า ขำขัน ของพวกเราแต่ก็แสดงถึงวินัยอันดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง จากผลการฝึก
เรื่องที่สอง พลทหารคนหนึ่งถูกยิงบาดเจ็บและถูกส่งกลับลงจากเขามารักษาในโรงพยาบาลสนาม พอบาดแผลหายพอปฏิบัติงานได้ แม่ทัพภาค ๓ พล.ท.สำราญ แพทยาคุณ ท่านไปเยี่ยม และถามว่า จะกลับบ้านไปพักผ่อนไหม ทหารผู้นั้น ตอบว่า "ขอกลับขึ้น แนวรบอีก" มทภ.๓ ท่านถามว่า ทำไมไม่ไปพักผ่อนละ ทหารผู้นั้น ตอบว่า "ผมเป็นห่วง ผบ.หมู่ และ เพื่อน ในหมู่ ขณะนี้ เหลือเพียง ๑๑ คนเท่านั้น เพราะเสีย ชีวิต ๑ คน และ ผมมา ป่วยอีก ๑ คน (หมู่ ปล.นย. มี ๑๓ คน) เมื่อผม กลับขึ้นไป จะมี คนเพิ่ม อีก ๑ คน" มทภ.๓ ท่านหันมา ถาม ผบ.ผส.นย. ว่า นย.ฝึกกันอย่างไร ถึงได้คนอย่างนี้ ผู้เขียน เป็น นายทหารยุทธการ ของ กกล.นย. ติดตาม ผบ.ผส.นย. ไปใน คณะด้วย จึงทราบเรื่องนี้ และ ติดหู ติดตา มาตลอด ทหารผู้นั้นได้กลับ ขึ้นแนวรบ ไปอีก ตามที่เขาต้องการ นับเป็นเกียรติประวัติที่น่า ชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

พื้นที่ปฏิบัติการของ พัน.ฉก.นย.

การเคลื่อนย้ายเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการ
การเคลื่อนย้ายกำลังต่าง ๆ ของ พัน.ฉก.นย. จากที่ รวมพล พัน.ร.๑ ผส.นย. ค่ายกรมหลวงชุมพร อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี เข้าสู่พื้นที่รวมพลขั้นสุดท้ายที่ค่ายลูกเสือ เมืองลุ่ม อ.หล่มเก่า จว.เพชรบูรณ์ โดย ยานยนต์ กระทำ เป็น ๓ ส่วน (เที่ยวขน) ส่วนการเคลื่อนย้ายจากที่รวมพลขั้นสุดท้ายขึ้นสู่ฐานปฏิบัติการ บ.ป่ายาบ (บนเขา) ในพื้นที่รับผิดชอบนั้นกระทำด้วยกำลังทางอากาศ กำลังพลทหารราบ ลำเลียงด้วย ฮ.ฮิวอี้ ของ ทบ. และ ทอ. รวม ๑๐๕ เที่ยว , ป. ๑๐๕ มม. ยกหิ้ว ด้วย ฮ.ซีนุก ของ ทบ. ทก.พัน.ทาง ยุทธวิธี ตั้งอยู่ที่ บ.ป่ายาบ ณ ฐานปฏิบัติการ บ.ป่ายาบ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาลูกหนึ่งของเทือกเขาที่เป็นรอยต่อเขตแดน ๓ จังหวัด เพชรบูรณ์ เลย และ พิษณุโลก ซึ่งมี ภูหินร่องกล้า รวมอยู่ด้วยนี้ ร้อย.ปล. ทั้ง ๓ กองร้อย ของ พัน.ฉก.นย. ได้ เคลื่อนย้ายเข้าปฏิบัติการใน ขตพื้นที่รับผิดชอบ ของ ตนต่อไป ส่วน ร้อย.ป. ก็ใช้ เป็นฐานยิง สนับสนุน ให้แก่ ร้อย ปล. ทั้ง ๓ กองร้อย ของ พัน.ฉก.นย. ได้อย่างทั่วถึงทุกจุด และยังสามารถยิงสนับสนุน กำลัง ของ ทบ. ในพื้นที่ข้างเคียงได้ด้วย นับว่า ป็นที่ตั้งปืนใหญ่ ที่เหมาะสมมาก
ส่วนกำลังของ บก.กกล.นย. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ กำลัง ใน กกล. เขต ทภ.๓ (ส่วนหน้า) และชุดสนับสนุนการช่วยรบนั้น เคลื่อนย้าย จาก บก.ผส.นย. สัตหีบ โดย ยานยนต์ไปเข้าที่รวมพล ณ ค่ายลูกเสือ พ่อขุน ผาเมือง อ.หล่มสัก จว.เพชรบูรณ์ ในขั้นการเคลื่อนย้ายเข้าสู้พื้นที่ปฏิบัติการนี้ ใช้เวลา ตั้งแต่ ๓ พ.ย.๑๕ ถึง ๒๘ พ.ย.๑๕ รวม ๒๖ วัน

การปฏิบัติการ ระยะ เวลา ตั้งแต่ ๑ ธ.ค.๑๕ ถึง ๒๙ ม.ค.๑๖ รวม ๖๐ วัน
เป็นการลาดตระเวนรบด้วยหน่วยขนาดกองร้อยปืนเล็ก เพิ่มเติมกำลังในพื้นที่ปฏฺบัติการที่ได้รับมอบโดยการ คลื่อนย้าย ค้นหา ทำลาย และ หยุดเข้า ฐานพัก แรมคืน แห่งละ ๑ - ๓ คืน มีการส่งหมวดปืนเล็กแยกออกไปปฏิบัติการเป็นครั้งคราว การปฏิบัติจะพุ่งเข้าหาที่หมายหลัก คือ ฐาน หรือ ที่พัก ผกค. ที่ คาดหมายไว้ แต่ละกองร้อยจะรุกคืบหน้า ไปเรื่อย ๆ จนถึงที่หมายขั้นสุดท้ายของตนเองการเดินทางใช้ตามระบบ แผนที่ เข็มทิศ เป็นหลัก การเข้าฐานพักแรมคืน ในแต่ละวันจะใช้ปืนใหญ่ยิงกระสุนควัน MARKING ROUND เพื่อหาที่อยู่ที่แน่นอนของฐานเมื่อถูกโจมตี ปืนใหญ่ จะยิงช่วยได้ อย่างรวดเร็ว ทันการและแม่นยำ ในศึก ครั้งนี้ปืนใหญ่ มีบทบาทมาก โดยเฉพาะกองร้อยปืนใหญ่ ของ นย. ซึ่งมี ร.อ.สมภูรณ์ สุนทรเกตุ เป็น ผบ.ร้อย มีผลงานจนเป็นที่ยอมรับ ของกองพัน ทหารราบ ต่าง ๆ ของ ทบ. ที่เข้าร่วม ปฏิบัติการ ในครั้งนั้น
ในยุทธการสามชัย นย. ได้บทเรียนมากมาย การรบครั้งหนึ่งในหลาย ๆ ครั้ง ในยุทธการสามชัย ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการร่วมกันของกำลังทางบก และทางอากาศของสามเหล่าทัพ จริง ๆ สมตาม ชื่อว่า "ยุทธการสามชัย" คือ การช่วยคนเจ็บกลับออกจากพื้นที่การรบ ของ ร้อย ปล. ที่ ๒ ซึ่งมี ร.อ.ชีวิน ปิ่นทอง เป็น ผบ.ร้อย เนื่องจาก ผกค. ได้เกาะอยู่รอบ ๆ ฐาน ปฏิบัติการของกองร้อยการนำ ฮ. ลงรับคนป่วยต้องใช้กำลังทางอากาศ ของ ทอ. ทิ้งระเบิด และ ยิง ปก. สกัด ทำลายข่มไว้ ทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งใช้ ปืนใหญ่ ๑๐๕ มม. จาก ร้อย ป.นย. (ซึ่งมี ร.อ.สมภูรณ์ สุนทรเกตุ เป็น ผบ.ร้อย.) ยิงสกัด ข่มไว้ อีกด้านหนึ่ง และ ฮ.ของ ทบ. จะต้องบินรอดใต้ ระสุนวิถี องปืนใหญ่เข้ามาลงรับ คนป่วย จึงสำเร็จ ถือว่าเป็นการปฏิบัติการร่วมสามเหล่าทัพที่สมบูรณ์จริง ๆ รายละเอียดการปฏิบัติ พล.ร.ท.ทวีชัย เลียงวิบูลย์ รอง ผบ.กร. ซึ่งเป็นนายทหารยุทธการทางอากาศ ของ กกล.นย. และ กกล.ทภ.๓ (สน.) ในขณะนั้น ได้รวบรวมไว้เป็น ประวัติศาสตร์ แล้ว
การปะทะกับ ผกค. ซึ่ง ๆ หน้าในลักษณะการปฏิบัติ แบบฉับพลัน ฝ่ายเราได้เปรียบ ผกค. ตลอด ยิงก่อน ยิงแม่นกว่า การเคลื่อนย้ายฐานปฏิบัติการระดับกองร้อย หรือ หมวดทุก ๆ วัน ไม่เคย ถูก ผกค. รบกวนฐานเพราะ ผกค. ยังไม่พบฐานเนื่องจากเดาไม่ถูกว่าฝ่ายเรา เคลื่อนย้าย ไปทางใหน เพราะเรา เดินตาม เข็มทิศ ไม่เดินตามเส้นทาง แม้เมื่อถูกตรวจพบฐาน ผกค. พยายามยิงเพื่อให้ฝ่ายเรายิงโต้ตอบเพื่อเปิดเผยแนว แต่เมื่อฝ่ายเราเงียบสงบ และจะยิง เฉพาะเมื่อเห็นตัว ซึ่ง ผกค. ก็จะบาดเจ็บกลับไปทุกครั้ง และตราบใดที่ ผกค. ยังไม่ทราบ แนวป้องกัน ผกค.จะไม่กล้าเข้าตีเป็นกลุ่มก้อน
การเคลื่อนที่ของเราด้วยการเดินตัดป่าตามเข็มทิศ แม้จะไปได้ช้าแต่ปกปิดจุดมุ่งหมาย เมื่อถึงที่หมายหลักจึงสามารถ จู่โจม ทำลาย ได้ง่าย สำเร็จ ตามแผนที่หน่วยเหนือมอบกิจให้
พลทหารที่ได้รับการฝึกอย่างเข็มข้น จ้ำจี้ จ้ำไช จะมีขีดความสามารถใกล้เคียงกันทั้งหมู่ จนสามารถทำการแทนกันได้ และมีความรัก สามัคคี ในหน่วยสูงมาก การปฏิบัติการเกือบจะไม่ต้องสั่งด้วยวาจา
การส่งเสบียงอาหาร พัน.ฉก.นย. ส่งทุก ๓ วัน เนื่องจากเกรงว่า ถ้าส่ง ทุก ๕ วัน จะทำให้ทหารต้องแบกน้ำหนักมากเกินไป เพราะมีกระสุน อยู่ ๑ อัตรามูลฐาน พร้อมวัตถุ ระเบิด อยู่ด้วยแล้ว แต่ความจริงที่พบในยุทธการสามชัย ครั้งนี้ คืออัตราเสบียง อาหารแห้ง พวก ข้าวสาร ที่เราคำนวณว่าทหารคนหนึ่ง ต้องกินวันละ ๗๐๐ กรัม / คน นั้น ในยามรบที่ต้องเคลื่อนย้ายทุกวันเช่นนี้ทหารจะรับประทานข้าวสารน้อยกว่าอัตราที่กำหนดให้ เพราะทหารจะหุงอาหารวันละ ๒ ครั้ง และ อาหารหลักก็วันละ ๒ ครั้ง เท่านั้น มื้อกลางวันไม่มี เวลาหุงหาอาหาร ดังนั้น อาหารมื้อกลางวัน จึงเป็นของที่กินง่าย ๆ ไม่ต้องปรุงแต่ง เช่น ข้าวตู ข้าวตาก มาม่า ยำยำ ฯลฯ อะไรก็ได้ที่สามารถกินได้โดยไม่ต้องใช้ไฟ หรือน้ำร้อน การส่งเสบียง ในช่วงต่อมา นย. จึงทำเป็นข้าวคั่วใส่พริกแห้ง กุ้งแห้ง ให้มีโปรตีน สามารถ กินได้ตลอดเวลา อนึ่ง ขนมหวาน ต่าง ๆ ก็เป็นที่ ทหารชอบมาก เช่น พวก ถั่วตัด ข้าวเหนียวแดง ฯลฯ สำหรับข้าวสารนั้น ในระยะหลัง หน่วยขอให้ลดจำนวนลง เพราะใช้น้อยกว่าที่คำนวณไว้ ความจริง อัตรา ข้าวสาร ๗๐๐ กรัม / คน / วัน ในที่ตั้ง ปกติ สำหรับ พลทหาร เมื่อ ๒๕ ปีโน้น ถ้าวันใด มีน้ำพริก ข้าวจะ ไม่พอ ด้วยซ้ำไป
น้ำดื่มเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องส่งให้ทุกเที่ยวเสบียง เนื่องจากในพื้นที่ปฏิบัติการน้ำ หายากทุกจุด ที่มีน้ำ ก็มีกับระเบิด และมีการซุ่มโจมตี ของ ผกค. มีหลายครั้ง ที่ ผบ.ผส.นย. ให้เอาน้ำใส่ท่อพลาสติก ชนิดนิ่ม ขนาดโต ๆ โดยมัด หัว ท้าย เป็นท่อน ๆ ส่งโดย การทิ้ง FREE DROP จาก ทางอากาศ
ครั้งหนึ่ง มีการส่งเสบียงนอกรอบ คือ ร้อย.ปล. ๒ พัน.ฉก.นย. ถูก ผกค. ล้อมอยู่รอบ ๆ ฐาน จน ฮ. ไม่สามารถลงส่งเสบียงให้ได้ และก็ยังรับคนเจ็บกลับไม่ได้ด้วยเลยเวลามาแล้วเป็นวันที่ ๒ บรรดา นายทหารหนุ่ม ระดับ ร.อ. - พ.ต. (น.ต.) ทั้งสามเหล่าทัพที่ปฏิบัติงานอยู่ใน บก.กกล. เขต ทภ.๓ (ส่วนหน้า) ที่สนามบิน หล่มสักได้รวบรวมเงินกันกว้านซื้อกล้วยทอดมันทอดจนหมดตลาดหล่มสัก ให้ บ.ตรวจการณ์ (บ.โอ.๑ เอ) ของ ทอ. เอาไป ทิ้งให้ ร้อย.ปล.๒ พอจบ ภารกิจแล้ว ถาม ผบ.ร้อย.ปล.๒ ว่า ได้รับคำตอบ ว่า "พี่วันนั้นได้กล้วยทอด มันทอด คนละ ๒ - ๓ ชิ้น ดีกว่า ไม่มี อะไรเลย" ถือว่า เป็นการแสดงความห่วงใยซึ่งกันและกัน ของเพื่อนร่วมรบที่เห็นใจและเข้าใจสถานการณ์ที่เพื่อนประสบอยู่ การยิงสนับสนุนทางอากาศ โดยใกล้ชิดจาก บ.ทอ. หลาย ๆ ครั้ง สำเร็จ ผลดียิ่ง เพราะนักบิน กับ ผบ.ร้อย.ปล. เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน การช่วยเหลือ จึงมิใช่ กระทำตาม หน้าที่ เท่านั้น แต่เป็นการ กระทำ เพื่อช่วยเหลือ เพื่อนตนเอง ด้วย
การส่งกระสุนเพิ่มเติมตลอดเวลาเกือบไม่ได้กระทำ เพราะกำลังพลที่ได้รับการฝึกอย่างดีนั้น จะใช้กระสุนน้อยและคุ้มค่า แม้ว่าจะมีการปะทะบ่อยครั้งก็ตาม
วงรอบเสบียงในกิจเช่นนี้ ภูมิประเทศเช่นนี้ควรใช้วงรอบ เสบียง ๕ วัน เสบียงควรเป็นของกึ่งสำเร็จรูป ปรุงก็ได้ไม่ปรุงก็กินได้ มีน้ำหนักเบา มีคุณค่า ทางอาหาร พอเพียง
พลโท บุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้อำนวยการฝึกร่วม ปี ๑๖ ได้กล่าวรายงาน สรุปผลการฝึกร่วม ปี ๑๖ ให้ ผบ.ทหารสูงสุด , ผบ.ทบ. , ผบ.ทอ. และ อธิบดี กรมตำรวจ พร้อมด้วย ผู้แทน ๓ เหล่าทัพ ประมาณ ๓๐๐ คน ฟัง ณ หอประชุม กิตติขจร รร.นายร้อย จปร. เมื่อ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๖ ตอนหนึ่ง ที่ท่าน ผู้อำนวยการฝึกร่วม ปี ๑๖ กล่าว พัน.ฉก.นย. ว่า.
"กระผมมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่มีกำลังของหน่วยนี้ เข้าปฏิบัติการร่วมด้วยตลอดระยะเวลาที่กำลังนาวิกโยธิน หน่วยนี้เข้าปฏิบัติการ กระผมขอกราบเรียนด้วยความจริงใจ ว่ากองพันนาวิกโยธิน กองพันนี้มีประสิทธิภาพสูง สามารถเข้าร่วมการฝึกเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองพันของกองทัพบก ด้อย่างดีเยี่ยม"

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพ ฯ
เสด็จเยี่ยม ร้อย.ป.พัน.ฉก.นย. ที่ บ้านป่ายาบ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๖ น.ต.สมภูรณ์ สุนทรเกตุ ผบ.ร้อย.ป.พัน.ฉก.นย. กำลังถวายรายงาน
โดยมี น.อ.ประชา กนิษฐชาติ และ น.ท.สมหวัง ตันเสถียร ผบ.พัน.ฉก.นย. ตามเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเยี่ยม พัน.ฉก.นย.
เหนือสิ่งอื่นใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชนินาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้า ลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรวลัยลักษณ์ ได้ทรงเสี่ยงอันตราย เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปทรงเยี่ยม พัน.ฉก.นย. ถึง ฐานปฏิบัติการ ณ บ้านป่ายาบ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๖ ซึ่ง ขณะนั้นยังทำการรบกันอยู่ ต้องเสด็จพระราชดำเนินผ่านคูสนามเพลาะ ด้วยความยากลำบาก

สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จทอดพระเนตรบริเวณรอบ ๆ ฐานกองร้อยปืนใหญ่ ที่ บ้านป่ายาบ

น้ำตาแห่งความปลื้มปิติยินดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณคลออยู่ในดวงตาของทหารนาวิกโยธินโดยไม่รู้ตัว ความเหนื่อยยาก และทุกข์ทรมานเหือดหาย ไปอย่างปลิดทิ้งทหารนาวิกโยธินทุกผู้นาม ต่างสวดภาวนาขอให้ทั้งสี่พระองค์ทรงพระเจริญและปลอดภัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

แบบสำรวจ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้