โคก หนอง นา โมเดล คือ การจัดการพื้นที่ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ที่เป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ โคก - หนอง - นา โมเดล เป็นการให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเอง โดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้นอย่างเป็นระบบ
ซึ่งโคก - หนอง - นา โมเดล เป็นแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบดังนี้
๑. โคก : พื้นที่สูง ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ / ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย / ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ
๒. หนอง : หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก) / ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ / ทำฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง / พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก
๓. นา : พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็ก ๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน / ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา
ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานเปิดโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่
“โคก หนอง นา กองทัพเรือ”
สำหรับโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา กองทัพเรือ” นั้น กองทัพเรือได้ดำเนินการโดย น้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์เป็นต้นแบบให้กำลังพลกองทัพเรือ และครอบครัว ตลอดจนประชาชนทั่วไป ใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง สอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยปัจจุบันพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ของกองทัพเรือ มีจำนวน ๗ พื้นที่ จาก ๑๐ หน่วยงาน ประกอบด้วย
- พื้นที่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน ๒ หน่วยงาน คือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ และกรมยุทธศึกษาทหารเรือ (อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม)
- พื้นที่ จังหวัดชลบุรี จำนวน ๓ หน่วยงาน คือ กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ และ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (อำเภอสัตหีบ)
- พื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน ๑ หน่วยงาน คือ กรมสวัสดิการทหารเรือ (อำเภอบางน้ำเปรี้ยว)
- พื้นที่ จังหวัดตราด จำนวน ๑ หน่วยงาน คือ ทัพเรือภาคที่ ๑ (อำเภอแหลมงอบ)
- พื้นที่ จังหวัดสงขลา จำนวน ๑ หน่วยงาน คือ ทัพเรือภาคที่ ๒ (อำเภอเมืองสงขลา)
- พื้นที่ จังหวัดพังงา จำนวน ๑ หน่วยงาน คือ ทัพเรือภาคที่ ๓ (อำเภอท้ายเหมือง)
- พื้นที่ จังหวัดจันทบุรี จำนวน ๑ หน่วยงาน คือ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (อำเภอโป่งน้ำร้อน)
โครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา กองทัพเรือ” ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นมา มีการปฏิบัติที่สำคัญได้แก่ การให้ความรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งออกเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น ฐานการปลูกต้นไม้ ฐานการปลูกมะนาวในบ่อวงซีเมนต์ ฐานการเลี้ยงปลา ฐานการเลี้ยงกบ ฐานการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ ฐานการเลี้ยงหมู ฐานการทำปุ๋ยหมัก ฐานการเลี้ยงไก่ และฐานการปลูกอ้อยเป็นต้น ซึ่งปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆของกองทัพเรือ มีความพร้อมในระดับ “ก้าวหน้า” สามารถประชาสัมพันธ์ให้กำลังพล ครอบครัวและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมโครงการ เพื่อศึกษาและนำไปใช้เป็นแนวทางการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ต่อไป
ผู้บัญชาการทหารเรือรับมอบกระบือพระราชทาน ภายใต้การดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย
ในโครงการพระราชดำริ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ และ นางจุฬารัตน์ ศรีวรขาน นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบกระบือพระราชทาน จำนวน ๔ ตัว ตามการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยของคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา” หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ตำบลเกล็ดแก้ว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔
กิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย เพื่อดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย โดยใช้ภูมิปัญญาไทย ปลูกฝัง และสนับสนุนวิถีชีวิตเกษตรแบบดั้งเดิม ในการใช้กระบือทำการเกษตร ร่วมกับการพัฒนาสายพันธุ์กระบือไทย เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต ตลอดจนเป็นสถานที่เรียนรู้ สำหรับเกษตรกรและประชาชนที่สนใจในอาชีพการเลี้ยงกระบือ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด การอนุรักษ์กระบือไทย โดยมอบให้ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เป็นหน่วยรับกระบือพระราชทานทั้ง ๔ ตัว ไว้เลี้ยงดูและพัฒนาสายพันธุ์ฯ ณ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฏีใหม่ “โคก หนอง นา” ทั้งนี้ กระบือพระราชทาน ทั้ง ๔ ตัว เป็นเพศเมีย
โครงการตามรอยพ่อ ต่อยอดเศรษฐกิจพองเพียง
"โคก หนอง นา กองทัพเรือ" ศาสตร์พระราชา กองร้อยกองบัญชาการ ทัพเรือภาคที่ ๑

พลเรือโท โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ ๑ เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ "โคก หนอง นา กองทัพเรือ" แบบ New Normal โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบให้กำลังพลทัพเรือภาคที่ ๑ และครอบครัว ตลอดจนประชนทั่วไปสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเคยรับสั่งไว้ว่า "น้ำคือชีวิต" ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นความพิเศษของ โคก หนอง นา โมเดล ก็คือการวางแผนเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี เพราะหากมีน้ำใช้แล้วก็จะอยู่ได้และประกอบอาชีพได้ ช่วยลดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชากร อีกทั้งยังช่วยลดความแออัด ลดการแย่งพื้นที่ทำกินในเมืองใหญ่ ลดปัญหาสังคม และปัญหายาเสพติด อีกด้วย ณ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ ๑ ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๔




ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโยทะกา พื้นที่ ๘๙ ไร่

กรมสวัสดิการทหารเรือจัดทำโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโยทะกา พื้นที่ ๘๙ ไร่”ซึ่งยึดตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ด้านโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนคำแนะนำจาก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) มาประยุกต์ใช้ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่น้อย แต่สามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้ผลเทียบเท่ากับพื้นที่ที่ทำอยู่เดิมหรือมากกว่า โดยมีพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโยทะกา เมื่อวันพุธที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๓ ณ ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงทหารเรือโยทะกา ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทราโดยมี พลเรือเอก สมชาย ณ บางช้าง ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ ขณะนั้นเป็นประธานประกอบพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ ฯ ดังกล่าว
. .jpg)
.jpg)
การดำเนินการภายในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโยทะกา พื้นที่ ๘๙ ไร่ มี ๑๑ ฐานเรียนรู้ ประกอบด้วย
๑. ฐานเรียนรู้ไม้ดอกไม้ประดับ เพาะพันธุ์กล้าไม้ต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายเป็นต้นกล้า ไม้ตัดใบ ไม้ตัดดอก
๒. ฐานเรียนรู้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ดินผสมน้ำส้มควันไม้ มูลไส้เดือน
๓. ฐานเรียนรู้เมล่อนอินทรีย์ ปลูกเมล่อนภายในโรงเรือน
๔. ฐานเรียนรู้ผลไม้ท้องถิ่น ประกอบด้วยผลไม้ท้องถิ่นประจำภาคตะวันออก และท้องถิ่นอื่น ๆ ที่สามารถปลูกได้
๕. ฐานเรียนรู้โคกหนองนา ประกอบด้วยแปลงนาและเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่ ๓ ไร่ ๕ ไร่ และ ๙ ไร่
๖. ฐานเรียนรู้นาขาวัง ๒ ไร่ ทำนาข้าวร่วมกับการเลี้ยงปลาในนาข้าว
๗. ฐานเรียนรู้นาอินทรีย์ ทำนาโดยใช้สารอินทรีย์ชีวภาพ
๘. ฐานเรียนรู้คันนาทองคำ ปลูกพืชผักต่าง ๆ บนคันนาที่ยกให้กว้างขึ้น เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่คันนา
๙. ฐานเรียนรู้ฐานสัตว์ปีก เลี้ยงไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง ไก่สวยงามหรือสัตว์ปีกอื่น ๆ
๑๐. ฐานเรียนรู้เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อเพาะพันธุ์ชนิดต่าง ๆ
๑๑. ฐานเรียนรู้สวนสมุนไพร ปลูกพืชสมุนไพรตามแนวทางของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
.jpg)
. 
.
สำหรับฐานเรียนรู้จะมุ่งเน้นในฐานเรียนรู้โคก หนอง นา จะทำเป็นแปลงนาและเกษตรผสมผสานในพื้นที่ ๓ ไร่ ๕ ไร่ และ ๙ ไร่ เพื่อให้เป็นตัวอย่าง ในการปฏิบัติที่ได้ผลจริงซึ่งการดำเนินการตอนนี้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ร้อยละ ๖๐ จะสามารถเปิดให้หน่วยงานและประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้ในเร็ว ๆ นี้

สำหรับผู้สนใจรายละเอียดสามารถติดต่อได้ที่
- ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงทหารเรือโยทะกา ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒๔๑๕๐ โทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๔๗๙๑, ๐ ๒๔๗๕ ๔๗๙๒
- กองอาชีวสงเคราะห์ กรมสวัสดิการทหารเรือ โทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๘๙, ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๙๒
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรตามแนวพระราชดำริฯ
พื้นที่เขตบางพระ
กรมสวัสดิการทหารเรือจัดทำโครงการ “ศูนย์เรียนรู้การเกษตรตามแนวพระราชดำริ” ซึ่งได้น้อมนำเอากระแสพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ในด้านการอนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่า และการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ในเรื่องการเกษตร โดยมีแนวทางการดำเนินงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้กำลังพลของกองทัพเรือ และประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับการอบรม ได้ทดลองปฏิบัติด้วยตนเองให้เกิด ความเข้าใจลึกซึ้ง โดยจะอบรมการดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ของตนได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้เข้ารับการอบรมดีขึ้น จัดสรรพื้นที่จำนวน ๘๐ ไร่ โดยมีพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้การเกษตรตามแนวพระราชดำริ เมื่อวันจันทร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ ศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือบางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยได้รับเกียรติจากนางวลัยพร ณ บางช้าง อุปนายกสมาคม ภริยาทหารเรือ เป็นประธานประกอบพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ ฯ ดังกล่าว
การดำเนินการภายในศูนย์เรียนรู้การเกษตรตามแนวพระราชดำริ มี ๑๓ ฐานเรียนรู้ ประกอบด้วย
๑. ฐานการเรียนรู้การทำนาอินทรีย์
๒. ฐานการเรียนการเลี้ยงไส้เดือน
๓. ฐานการเรียนรู้เลี้ยงหมูหลุม
๔. ฐานการเรียนรู้เลี้ยงแพะ
๕. ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่
๖. ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงสุกร
๗. ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงโค
๘. ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงปลา
๙. ฐานการเรียนรู้การปลูกพืชผักผลไม้ต่าง ๆ
๑๐. ฐานการเรียนรู้การเพาะทานตะวันงอก
๑๑. ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงกระบือไทย
๑๒. ฐานการเรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพ
๑๓. ฐาน ๓ ดำภูพาน และพันธุ์สัตว์พระราชทาน
- สุกรดำภูพาน
- ไก่ดำภูพาน
- โคดำภูพาน
สำหรับผู้สนใจรายละเอียดสามารถติดต่อได้ที่
- ศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือบางพระ หมู่ ๘ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๔๗๙๘
- กองอาชีวสงเคราะห์ กรมสวัสดิการทหารเรือ โทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๘๙, ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๙๒