พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย พลเรือตรีหญิง ดอกเตอร์ ทันตแพทย์หญิง จีระวัฒน์ กฤษณพันธ์ ว่องวิทย์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเต่าทะเล (น้องเต่าสีชัง) กลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยมี นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และพลเรือตรี เอตม์ ยุวนางกูร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ร่วมพิธี ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๘
สำหรับความเป็นมาของ “น้องเต่าสีชัง” ที่ได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในวันนี้ เป็นเต่าตนุเพศเมีย ชื่อสีชัง อายุประมาณ ๓๐ - ๓๕ ปี (สันนิษฐานจากร่องรอยการเจริญเติบโตของกระดอง) ได้รับบาดเจ็บจากการถูกใบพัดเรือฟันที่บริเวณหัว กระดองหน้า และหลัง ได้รับบาดเจ็บเกยตื้นอยู่ บริเวณชายหาดเกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จึงเป็นที่มาของชื่อ “สีชัง” โดยเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดระยอง ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลเต่าทะเล กองทัพเรือ รับเต่ามารักษาอาการบาดเจ็บ และได้ตั้งชื่อว่า “น้องเต่าสีชัง” โดยขณะที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ไปรับตัวมาตรวจรักษา น้องเต่าสีชังมีน้ำหนักตัว ๑๐๑.๓ กิโลกรัม กระดองกว้าง ๘๔ เซนติเมตร ยาว ๙๖ เซนติเมตร ที่บริเวณหัว กระดองหน้า กระดองส่วนท้ายแตก เพราะถูกใบพัดเรือฟัน มีบาดแผลฉกรรจ์ ซึ่งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ได้รับมารักษา ณ โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ซึ่งในปัจจุบัน น้องเต่าสีชังได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ พร้อมปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ เป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ทางด้านชีววิทยาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของเต่าทะเล ประกอบด้วย ๔ ส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ อาคารจัดแสดงพันธุ์เต่าทะเลและสัตว์น้ำ อาคารบรรยาย บ้านเต่าทะเลเฉลิมพระเกียรติ และบ่ออนุบาลเต่าทะเล ซึ่งจะมีเต่าทะเลในช่วงอายุที่แตกต่างกันไป ซึ่งการดำเนินงานของกองทัพเรือ โดยหน่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล จะจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าตรวจประจำตามหาดต่าง ๆ บนเกาะคราม เกาะอีร้า และเกาะจาน รวม ๑๖ หาดด้วยกัน เพื่อเฝ้าตรวจการลักลอบเก็บไข่เต่าทะเล การทำลายแหล่งขยายพันธุ์เต่าทะเล รวมทั้งการเก็บรวบรวมไข่เต่าทะเลจากหาดต่าง ๆ นำไปเพาะฟักในพื้นที่ที่เตรียมไว้ จนกระทั่งเกิดเป็นลูกเต่า หลังจากนั้นจึงดำเนินการในขั้นตอนของการอนุบาลลูกเต่า ก่อนกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป
นอกจากนั้นยังมีโรงพยาบาลเต่า เพื่อให้การรักษาพยาบาลเต่าทะเลที่ป่วยหรือรับบาดเจ็บ โดยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยสำหรับอำนวยความสะดวกให้กับสัตวแพทย์ และนับเป็นโรงพยาบาลเต่าทะเลแห่งแรกในเอเชีย โดยกองทัพเรือได้กำหนดชื่อโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ
สำหรับการรักษา "น้องเต่าสีชัง" ในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงการร่วมมือกันระหว่าง กองทัพเรือ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการรักษาพันธุ์ "เต่าตนุ" ให้คงอยู่คู่ท้องทะเลไทยตลอดไป
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้