ค้นหา
ปกติ
ขาวดำ
ดำเหลือง
ขนาดตัวอักษร

ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธีปล่อยเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลงน้ำ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท เอเชี่ยนมารีนเซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

พลเรือเอก จิรพล  ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลงน้ำ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท เอเชี่ยนมารีนเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๘

สำหรับลำดับพิธีที่สำคัญประกอบด้วย พิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอเชี่ยนมารีน เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวให้การต้อนรับ ประธานกรรมการร่วม ฯ กล่าวรายงาน ผู้บัญชาการทหารเรือกล่าวเพื่อเป็นเกียรติในพิธี จากนั้น พลเรือตรีหญิง ดอกเตอร์ ทันตแพทย์หญิง จีระวัฒน์ กฤษณพันธ์ ว่องวิทย์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ กล่าวเชิญมิ่งขวัญและมงคลสู่เรือ ก่อนทำพิธีเจิมปิดทองคล้องพวงมาลัย ผูกผ้าสามสี โปรยข้าวตอกดอกไม้ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์แผ่นป้ายชื่อเรือตามลำดับ ในเวลา ๑๓.๓๙ นาฬิกา นายกสมาคมภริยาทหารเรือได้ตัดเชือกปล่อยเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลงน้ำ โดยพระสงฆ์เจริญชัยมงคาถา วงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์

โครงการจัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ Hydrographic Vessel เป็นการจัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์จำนวน ๑ ลำ เพื่อทดแทนเรือหลวงสุริยะ ที่จะปลดระวางประจำการ โดยจะทำหน้าที่ในการตรวจซ่อมบำรุงเครื่องหมายทางเรือในน่านน้ำไทย เช่น ประภาคาร กระโจมไฟ และทุ่น ที่ติดตั้งตามชายฝั่งทะเลและเกาะ รวมถึงบริเวณอันตรายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับการคมนาคมขนส่งทางทะเลและการพาณิชยนาวีของประเทศ และยังสามารถสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลอีกด้วย

สำหรับเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลำนี้ มีความยาวตลอดลำ ๖๐ เมตร ความกว้างสูงสุดของเรือ ๑๓.๓ เมตร กินน้ำลึกสูงสุด ๓.๐๕ เมตร และมีความคงทนทะเลที่ Sea State 5 ทำความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ๑๓.๑ นอต ความเร็วมัธยัสถ์ ๑๐ น็อต โดยมีระยะปฏิบัติการ ๒,๔๐๐ ไมล์ทะเล กำลังพลประจำเรือ ๖๗ นาย ซึ่งได้มีการลงนามสัญญาจ้างสร้างเรือโดยบริษัท เอเชี่ยนมารีนเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๖ นับได้ว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ และในส่วนของพิธีวางกระดูกงูเรือ จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ โดยจะมีกำหนดส่งมอบให้แก่กองทัพเรือในห้วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๘

สำหรับพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำ จะต้องทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ในสมัยปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำแบบสากล ให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธี โดยการปล่อยขวดแชมเปญให้กระทบหัวเรือ การนี้ สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีได้รับบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผูกคอขวดเสียก่อนเสมอ

จนถึงปัจจุบันนี้ พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวี เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๔ ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงเสือคำรณสินธุ์ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๕๓ ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเรือหลวงตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดย กรมอู่ทหารเรือ ที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ ๑) ซึ่งมี คุณหญิงวิจิตรา  ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๐

รูปภาพเพิ่มเติม

Related Articles

แบบสำรวจ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้