ค้นหา
ปกติ
ขาวดำ
ดำเหลือง
ขนาดตัวอักษร

ประวัติ พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือ


ประวัติและผลงาน
ของ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

 
 
ประวัติชีวิตส่วนตัว
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ที่จังหวัดราชบุรี  เป็นบุตรนายอิน กับ นางเหมิด แสงสินชัย 
คู่สมรสชื่อ สุดใจ นามสกุลเดิม อินทศิริ เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี มีบุตรธิดา ๓ คน 
ปัจจุบันเกษียณอายุราชการจากกองทัพเรือ ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการกอง กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ แต่ยังคงทำงานด้านวรรณศิลป์ แต่งบทกาพย์กลอน และหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา และเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับด้านวรรณศิลป์ กับองค์กร สถานศึกษาต่าง ๆ ทั้งราชการและเอกชน
ติดตามผลงานได้ทาง Facebook: ทองย้อย แสงสินชัย , นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย fanpage
 
ประวัติการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๙๙ จบชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนวัดหนองกระทุ่ม อ.ปากท่อ ราชบุรี
พ.ศ. ๒๕๐๔ บวชเป็นสามเณร และเริ่มศึกษาบาลี สอบนักธรรมตรี ได้ สำนักเรียนวัดหนองกระทุ่ม
พ.ศ. ๒๕๐๕ สอบนักธรรมโท ได้ สำนักเรียนวัดหนองกระทุ่ม
พ.ศ. ๒๕๐๖ สอบนักธรรมเอกได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. ๒๕๐๘ สอบประโยค ป. ธ. ๓ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี  ได้เป็น “พระมหาทองย้อย” ตั้งแต่นั้นมา
พ.ศ. ๒๕๐๙ สอบประโยค ป. ธ. ๔ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. ๒๕๑๐ สอบประโยค ป. ธ. ๕ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. ๒๕๑๑ สอบประโยค ป. ธ. ๖ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. ๒๕๑๒ สอบประโยค ป. ธ. ๗ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. ๒๕๑๓ สอบประโยค ป. ธ. ๘ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. ๒๕๑๕ สอบประโยค ป. ธ. ๙ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. ๒๕๑๖ ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมคธ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย หลักสูตร ๒ ปี แต่เรียนได้แค่ ๑ ปี เกิดเหตุไม่สงบขึ้นใน มหาวิทยาลัยจนถูกสั่งปิด จึงต้องเดินทางกลับเมืองไทย
พ.ศ. ๒๕๓๐ รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 
 
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. ๒๕๑๗ ลาสิกขา และเข้าทำงานเป็นนักวิชาการที่ มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ เพื่อการค้นคว้า ทางพระพุทธศาสนา สำนักงานตั้งอยู่ในบริเวณวัดสระเกศ กทม.
พ.ศ. ๒๕๒๑ เข้ารับราชการเป็นนักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
พ.ศ. ๒๕๒๔ เข้ารับราชการเป็นอนุศาสนาจารย์ กองทัพเรือ
พ.ศ. ๒๕๒๙ อนุศาสนาจารย์ กองบังคับการ กรมทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธิน (ชื่อหน่วยในขณะนั้น) ค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส 
พ.ศ. ๒๕๓๔ อนุศาสนาจารย์โรงเรียนนายเรือ
พ.ศ. ๒๕๔๐ อนุศาสนาจารย์อาวุโส กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
พ.ศ. ๒๕๔๒ รองผู้อำนวยการ กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
พ.ศ. ๒๕๔๖ ผู้อำนวยการ กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
พ.ศ. ๒๕๔๘ เกษียณอายุราชการ
ในช่วงที่เริ่มบวชเรียนตั้งแต่เป็นสามเณร พระภิกษุ จนถึงเข้ารับราชการ ได้ทำงานด้านวรรณศิลป์มาตลอด ทั้งแต่งบทกวี กาพย์เห่เรือ เขียนบทความ เขียนหนังสือ เป็นวิทยากรฯลฯ ปัจจุบันแม้จะเกษียณอายุราชการมานานแล้วแต่ พลเรือตรี ทองย้อย ยังคงได้รับเชิญให้เป็นวิทยากร และที่ปรึกษาทางด้านภาษาไทย ภาษาถิ่น ตลอดจนยังคงทำงานด้านวรรณศิลป์มาอย่างต่อเนื่อง 
 
ประวัติการสร้างสรรค์ผลงาน
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย เป็นผู้มีอุปนิสัยสนใจใครรู้ต่อสิ่งหรือเรื่องราวต่างๆ มาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม จึงมิได้สนใจเฉพาะหลักวินัยที่ปรากฏในหลักสูตรการเรียนของแต่ละชั้น แต่ยังเรียนรู้และตั้งข้อสังเกตต่อหลักวิชาและประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้พบเห็น ยิ่งได้ซึมซับหลักวิชา และความเป็นไปในสังคมมากเท่าใด ก็ยิ่งเกิดแรงบันดาลใจให้แสดงออกและสร้างสรรค์งานวรรณกรรม
ในด้านกวีนิพนธ์ พลเรือตรี ทองย้อย เป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างสูงในการแต่งบทกวี โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ได้เริ่มแต่งมาตั้งแต่ครั้งยังบวชเรียน (ดังจะเห็นได้จากฉายาที่ได้รับตอนบวช คือ “วรกวินฺโท” ซึ่งหมายถึง “จอมกวีผู้ประเสริฐ”) โดยในยุคแรก ได้รับแรงบันดาลใจจากสภาพชีวิตชนบทที่ถือกำเนิด ทั้งความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ผู้คน และวัฒนธรรม  ยิ่งเมื่อได้บรรพชาอุปสมบทและศึกษาปริยัติธรรมอย่างสนใจ ก็ยิ่งทำให้รู้ลึกถึงแก่นแกนของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเกือบทั้งหมดมีพระพุทธศาสนาเป็นบ่อเกิด จึงปรารถนาจะถ่ายทอดและจารึกสิ่งที่ได้ศึกษาและได้เห็นมา  หลังจากลาสิกขา ก็ยังเขียนงานกวีนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง  เมื่อเข้ารับราชการในกองทัพเรือ ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แต่งบทกวีต่างๆ ในโอกาสสำคัญของกองทัพเป็นประจำ ที่สำคัญคือคำร้อยกรองกาพย์เห่เรือ ซึ่งใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ ในการเสด็จทางชลมารค การได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งบทกาพย์เห่เรือเหล่านี้ พลเรือตรี ทองย้อย จึงถือเป็นเกียรติยศอันสูงยิ่งที่ได้รับใช้ต่อองค์พระประมุขของประเทศ ที่ พลเรือตรี ทองย้อย จงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง และได้รับใช้หน่วยงานต้นสังกัด รวมทั้งยังเป็นการสร้างมรดกให้แก่แผ่นดินสืบไป
ในด้านวรรณกรรมเกี่ยวกับวิชาการศาสนา จากผลของการศึกษาปริยัติธรรมจนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค นอกจากทำให้มีความรู้ในทางธรรมเช่นเดียวกับมหาเปรียญทั่วไปแล้ว ยังทำให้เกิดปณิธานแน่วแน่ที่จะปกป้องเชิดชูพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่หลักธรรมคำสอนให้บริสุทธิ์มั่นคงด้วย การเผยแผ่วิชาการของพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง และบทบาทในเรื่องนี้ จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องอาศัยความรู้จริง ความวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้า และความสามารถทางด้านวรรณกรรม ที่จะถ่ายทอดหลักวิชาซึ่งคนทั่วไปถือว่าเข้าใจยากและน่าเบื่อหน่ายให้คนเข้าใจได้ จึงมุ่งมั่นศึกษาและค้นคว้าวิชาการในพระพุทธศาสนาจนแตกฉาน ฝึกฝนการเขียนงานวิชาการจนสร้างผลงานออกมามิได้ขาด ซึ่งมีทั้งประเภทให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป และผลงานที่มุ่งชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อพระรัตนตรัยที่มีผู้อื่นเขียนขึ้น อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนาได้
 
 
 
 
 
ผลงานวรรณศิลป์
กาพย์เห่เรือ
กาพย์เห่เรือสำคัญๆ ที่ พลเรือตรี ทองย้อย ได้ ประพันธ์ขึ้นมีดังนี้...
๑. กาพย์เห่เรือกาญจนาภิเษก  พ.ศ.๒๕๓๙ (กองทัพเรือสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙  ธนาคารไทยพาณิชย์จัดประกวดกาพย์เห่เรือชมเรือลำนี้ และสรรเสริญพระบารมี  พลเรือตรี ทองย้อยได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้แต่งเพิ่มอีก ๔ บท  รวมเป็น ๕ บท  ใช้เห่ในวาระที่กองทัพเรือจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๙)
๒. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ ใช้เห่ในวาระที่กองทัพเรือจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒  พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
๓. กาพย์เห่เรือเอเปค  ใช้เห่ในวาระที่กองทัพเรือได้รับมอบหมายให้จัดแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารค ใน ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๖  ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเอเปค  (กาพย์เห่เรือที่แต่งในงานนี้มี ๒ บท คือ ชมเรือกระบวน และ ชมเมือง)
๔. กาพย์เห่เรือฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ใช้เห่ในวาระที่กองทัพเรือได้รับมอบหมายให้เชิญขบวนเรือพระราชพิธี(จัดแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารค) ใน ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร พร้อมด้วยพระราชอาคันตุกะจากประเทศต่างๆ  ณ  ราชนาวิกสภา
๕. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ใช้เห่ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ประจำปี ๒๕๕๐ วันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
๖. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ใช้เห่ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ประจำปี ๒๕๕๕ วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
๗. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลกองทัพเรือจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑
๘. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จเลียบพระนคร และงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร วันที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
 
 

 
กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ
 
เนื่องในโอกาสมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เสด็จเลียบพระนคร และงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนิน
ถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
วันที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
 
-------------------
 
บทที่ ๑ สรรเสริญพระบารมี
 
๏ พระ-ไตรรัตนะแผ้ว เผด็จมาร
บรม-ทิพย์โสฬสสถาน เทพถ้วน
ราชา-ธิราชบุราณ บุรพกษัตริย์
ภิเษก-เสกสรรพพรล้วน หลั่งฟ้ามาถวาย๚ะ๛
๑-๏ พระเอย พระผ่านฟ้า พระบุญญาพระบารมี
สืบทรงวงศ์จักรี ให้เปรมปรีดิ์ทุกปวงชน
๒-๏ ดั่งรุ่งอรุณเริ่ม แสงสุขเสริมสืบนุสนธิ์
สว่างสร่างกังวล ผุดผ่องพ้นผ่านผองภัย
๓-๏ พระเอย พระผ่านเผ้า ที่โศกเศร้าค่อยสดใส
คนท้อขอถอดใจ ค่อยฟื้นไข้ขึ้นครามครัน
๔-๏ ทรงธรรมปานน้ำทิพย์ เทพไทหยิบหยาดสวรรค์
ชุ่มชื่นชุบชีวัน เป็นมิ่งขวัญแห่งชีวา
๕-๏ พระเอย พระผ่านพิภพ สุขสงบงามสง่า
ปานเพชรเก็จก่องนภา ประดับฟ้าประดับไทย
๖-๏ เดชะพระบารมี วงศ์จักรีจึงเกริกไกร
ทวีโชคทวีชัย ทวีสุขทุกวารวัน
๗-๏ พระเอย พระผ่านเมือง ไทยประเทืองประทับขวัญ
ปวงบุญแต่ปางบรรพ์ พระทรงธรรม์จึงทรงไทย
๘-๏ ทรงศีลทั้งทรงสัตย์ จึงทรงฉัตรจึงทรงชัย
บัวบุญจึงเบ่งใบ อุบลบานบนธารธรรม
๙-๏ พระเอย พระผ่านเกล้า ทุกค่ำเช้าไทยชื่นฉ่ำ
พระมหากรุณานำ คือน้ำทิพย์ลิบโลมดิน
๑๐-๏ พระทศมินทร์ปานปิ่นเพชร จึงสำเร็จเด็จไพรินทร์
ฟื้นฟ้าฟื้นธานินทร์ จงภิญโญยิ่งโอฬาร
๑๑-๏ พระเอย พระผ่านฟ้า พระเดชาจงฉายฉาน
แม้นมีมวลหมู่มาร จุ่งมอดม้วยด้วยพระบารมี
๑๒-๏ หมู่มิตรจงมั่นคง น้ำจิตตรงเต็มไมตรี
ไพร่ฟ้าประชาชี สามัคคีอยู่มั่นคง
๑๓-๏ เดชะพระไตรรัตน์ ทั้งศีลสัตย์สร้างเสริมส่ง
พระบารมีจักรีวงศ์ ทุกพระองค์เป็นธงชัย
๑๔-๏ แรงรักแห่งทวยราษฎร์  หลอมรวมชาติสืบศาสน์สมัย
ร้อยถ้อยร้อยดวงใจ ถวายไท้องค์ทศมินทร์
๑๕-๏ ขอจงทรงพระเกษม เอิบอิ่มเอมดั่งองค์อินทร์
พระกมลหมดมลทิน ผ่องโสภินดั่งเพชรพราย
๑๖-๏ ปรารถนาสารพัด สมพระมนัสที่ทรงหมาย
สุขทวีมิมีวาย พระบรมวงศ์ทรงพร้อมเพรียง
๑๗-๏ พระบารมีที่ทรงสร้าง ไป่โรยร้างรุ่งเรืองเรียง
บำรุงรัฐวัดวังเวียง จักรีวงศ์ทรงพระเจริญ-เทอญ๚ะ๛
 
 
-------------------
 
บทที่ ๒ ชมเรือกระบวน
 
๏ ลอยลำงามสง่าแม้น มณีสวรรค์
หยาดโพยมเพียงหยัน ยั่วฟ้า
เหมราชผาดผายผัน โผนเผ่น  นภาฤๅ
พายพะแพรวพรายถ้า ถี่พร้อมผันผยอง๚ะ๛
 
๑-๏ เรือเอยเรือพระที่นั่ง งามสะพรั่งเพียงหยาดสวรรค์
พิศองค์หงส์สุวรรณ เพียงผันผยองล่องลอยโพยม
 
๒-๏ หยาดฟ้ามารองบาท งามผุดผาดพิลาสโฉม
ฝีมือลือโลกโลม หล้าเลื่องลิบปานทิพย์ทำ
๓-๏ สุวรรณหงส์ลงลอยล่อง งามผุดผ่องล่องลอยลำ
นาคราชผาดโผนนำ ภุชงค์ล้ำเผ่นโผนลอย
๔-๏ กระบี่ศรีสง่า งามท่วงท่าไม่ท้อถอย
เรือครุฑไม่หยุดคอย ยุดนาคคล้อยลอยเมฆินทร์
๕-๏ อสูรวายุภักษ์ ศักดิ์ศรีคู่อสูรปักษิน
พายผกเพียงนกบิน ผินสู่ฟ้า
 
 

 
กาพย์เห่เรือเบ็ดเตล็ด (แต่งตามคำขอของหน่วยงานและบุคคลต่างๆ)
๑. กาพย์เห่เรือเมืองราชบุรี  แต่งตามคำขอของกรมการทหารช่าง ราชบุรี ๑๕ กันยายน ๒๕๔๘
๒. กาพย์เห่เรือเทิดพระเกียรติ พลเรือตรี  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาทหารเรือไทย  ๑๖ มกราคม ๒๕๔๙ 
๓. กาพย์เห่เรือตระกูลระหงษ์  ๒ มีนาคม ๒๕๔๙
๔. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติการกีฬา  ๕ กันยายน ๒๕๔๙
๕. กาพย์เห่เรือสัปดาห์กีฬานาวี  ๒๕ กันยายน ๒๕๔๙
๖. กาพย์เห่เรือชักพระ แต่งถวายวัดนางชีสำหรับใช้เห่ในงานประเพณีชักพระ (งานแห่และสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ) ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๙
๗. กาพย์เห่รถ เห่ประกอบขบวนรถเคลื่อนเข้าสนาม สัปดาห์กีฬานาวี สัตหีบ ๒๕๕๐
๘. กาพย์เห่เรือชมเมืองราชบุรี  ใช้เห่ในงานมหกรรมวัฒนธรรมภาคกลาง ๑๖ จังหวัด จัดที่จังหวัดราชบุรี ในระหว่าวันที่ ๑ - ๓ ธันวาคม ๒๕๔๙ เห่ก่อนแข่งเรือยาว ใน ๓ ธันวาคม ๒๕๔๙
๙. กาพย์เห่เรือ ชักพระวัดแค  แต่งถวายวัดแค จังหวัดสุพรรณบุรี ใช้เห่ในงานชักพระและสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
 
กวีนิพนธ์อื่นๆ
บรรพชาปวัตน์คำกลอน บทกลอนชนะเลิศรางวัลเคนเนดีทางวรรณคดี  ของมูลนิธิ  จอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๕ (พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๙, พิมพ์ครั้งล่าสุด พ.ศ.๒๕๖๐ โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์)
ลำนำลำน้ำแควน้อย  เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔
ไหว้พระบรมสารีริกธาตุ วัดมหาธาตุราชบุรี (แต่งเป็นคำฉันท์ภาษาบาลีและแปลเป็นไทย) พ.ศ.๒๕๔๑
บทกรวดน้ำโบราณ  (กาพย์สุรางคนางค์) แต่งซ่อมของเก่า พ.ศ.๒๕๔๑
คำบูชาพระมงคลบุรี วัดมหาธาตุ ราชบุรี (แต่งเป็นคำฉันท์ภาษาบาลีและแปลเป็นกาพย์สุรางคนางค์) พ.ศ.๒๕๔๑
พระอาการ ๓๒  (กาพย์สุรางคนางค์) แต่งซ่อมของเก่า พ.ศ.๒๕๔๑
คำกลอนเซียมซี  ฉบับวัดมหาธาตุ ราชบุรี (๓๘ ใบ) พ.ศ.๒๕๔๒
เพลงฉ่อยนำชมเมืองราชบุรี  แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ (ยังไม่ได้พิมพ์เผยแพร่)
บทกลอน ใน นาวิกศาสตร์ นิตยสารรายเดือนของกองทัพเรือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๔  เป็นต้นมา ประมาณ ๑๒๐ สำนวน
บทกลอนอาศิรวาท  บทกลอนวันที่ระลึกต่างๆ  บทกลอนอวยพร บทกลอนไว้อาลัย ตามที่มีผู้ร้องขอเป็นจำนวนมาก (ผลงานเหล่านี้ยังไม่ได้รวบรวม)
 
บทเพลง
บทเพลงที่มีผู้ขอให้แต่ง  มีทั้งเนื้อเพลงที่นำไปขับร้องเพลงไทยเดิม เนื้อและทำนองเพลงประจำโรงเรียน  (เช่น โรงเรียนสัตหีบวิทยาคม, โรงเรียนจ่าพยาบาล)  เพลงประจำหน่วยทหาร  (เช่น มาร์ชกรมสรรพาวุธทหารเรือ,  มาร์ชกรมอู่,  มาร์ชกรมทหารราบที่ ๓ นย.), เพลงประกวดสำหรับวงดนตรีโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ จังหวัดสุโขทัย, เพลงในโอกาสสำคัญต่างๆ ของกองทัพเรือ
 
หนังสือ
คัมภีร์จักกวาฬทีปนี (ตรวจชำระ, ค้นหาที่มาภาคภาษาบาลี และตรวจชำระคำแปล) ระหว่างรับราชการที่หอสมุดแห่งชาติ ปี ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔
สุภาษิตชาดก  รวบรวมพิมพ์ครั้งแรก ในงานสมโภชสุพรรณบัฎ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิธ ป.ธ.๙) วัดปทุมคงคา  พ.ศ.๒๕๓๒   พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๐ เปลี่ยนชื่อเป็น  สุภาษิตชาดก ๑๐๐ บท 
คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์   พิมพ์ครั้งแรก  พ.ศ.๒๕๓๒  ต่อมาพิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ เปลี่ยนชื่อเป็น พุทธทำนายโลก
วิเคราะห์ ว.ชัยภัค กรณีวิเคราะห์พระเทพเวที กรณีโพธิรักษ์  พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓
พุทธชัยมงคลคาถา (คาถาพาหุง)   พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๓๕
โคลงโลกนิติ ฉบับถอดความ   พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๓๗
ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับรวบรวมเรียบเรียงใหม่  พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๔๐
สวดมนต์ฉบับอุบาสกอุบาสิกา วัดมหาธาตุ ราชบุรี (รวบรวม เรียบเรียง) พ.ศ.๒๕๔๑
ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี  พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๔๒
ความจริงในมหาปรินิพพานสูตร (กรณีพระมโน) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๔๓
ความรู้เรื่องกฐิน  พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๔๓
เปิดหน้ากากธรรมกาย  ลากไส้ ดร.เบญจ์  พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๔๔
ไขปริศนาปัญหาภิกษุณี  พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๔๔
เหตุเกิด พ.ศ.๒๕๔๕ (ตอบชี้แจงหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ.๑ ของพระมโน เมตฺตานนฺโท) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๔๗
ข้อคิดคำนึงถึงเรื่อง “ไปปฏิบัติธรรม”  พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน พ.ศ.๒๕๕๐
อานุภาพแห่งความตาย  พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน พ.ศ.๒๕๕๒
กาลามสูตร : ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด (ตอบชี้แจงบทความของ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ใน มติชน)  พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน พ.ศ.๒๕๕๓
วิเคราะห์ ทฤษฎีว่าด้วยการอ่านพระไตรปิฎกและอรรถกถา (ฉบับทดลองนำเสนอ) (ตอบชี้แจงบทความของศาสตราจารย์ ดร. สมภาร พรมทา เรื่อง ทฤษฎีว่าด้วยการอ่านพระไตรปิฎกและอรรถกถา (ฉบับทดลองนำเสนอ) ในวารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)  พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน พ.ศ.๒๕๕๓
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เมื่อคนรุงรังเข้ามาทำให้รกมงคลสูตร (ตอบชี้แจงบทความของ เมตฺตานนฺโท ภิกฺขุ เรื่อง  มงคลสูตรมีมงคลกี่มงคล ในวารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)  พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน พ.ศ.๒๕๕๓
ทศบารมี วิถีสู่พุทธภูมิ แปลและเรียบเรียงจากคัมภีร์ ปรมัตถทีปนี อรรถกถาจริยาปิฎก  พิมพ์เผยแพร่เป็นวิชาทาน พ.ศ.๒๕๕๓
พินิจพระคาถาชินบัญชร พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน พ.ศ.๒๕๕๔
บาลีวันละคำ จาก Facebook เล่ม ๑ และ เล่ม ๒  พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน พ.ศ.๒๕๕๖
หมอชีวกโกมารภัจ  พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน พ.ศ.๒๕๕๖
พิธีกรควรรู้ พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน พ.ศ.๒๕๕๗
บาลีวันละคำ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๕๗ โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
 
บทความ
๑. บทความวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ใน นาวิกศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นต้นมา ประมาณ ๕๐ เรื่อง
๒. บทความประจำคอลัมน์ “ธรรมะใต้ธรรมาสน์” ในหนังสือพิมพ์เดลิมิเลอร์ ปี ๒๕๓๔
๓. บทความเกี่ยวกับภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม เผยแพร่ในเฟซบุ๊ค ทองย้อย แสงสินชัย และ 
นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย fanpage ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖
 
 
 
รางวัล และเกียรติคุณที่ได้รับ
โล่เกียรติยศจากอธิบดีกรมศิลปากร และเงินรางวัล ๑,๐๐๐ บาทในฐานะผู้ชนะเลิศแต่งกาพย์เห่เรือ ในหัวข้อ สยาม ของคณะเรือเพลงครั้งที่ ๑๐ โดยนายสนธิกาญจน์  กาญจนาสน์ เป็นประธาน พ.ศ.๒๕๑๐
รางวัลชนะเลิศ ในการประกวดบทประพันธ์ชิงรางวัลทางวรรณคดี ของมูลนิธิ จอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งประเทศไทย  ประจำปี ๒๕๑๔ บทประพันธ์ชื่อ บรรพชาปวัตน์คำกลอน  เงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท
รางวัลชนะเลิศในการประกวดแต่งกาพย์เห่เรือในโครงการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้จัด  พ.ศ.๒๕๓๙ เงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท
ได้รับรางวัลที่ ๒ ในการแต่งเพลงวันครูเข้าประกวด ซึ่งคุรุสภาเป็นผู้จัด เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑ ชื่อเพลง เทียนส่องฟ้า  (นาวาเอก ณัฐ รัชกุล กองดุริยางค์ทหารเรือ แต่งทำนอง)
ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากอำเภอปากท่อ ให้เป็น  บุคคลเกียรติยศ สร้างชื่อเสียงให้อำเภอปากท่อ  ในโอกาสฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี การก่อตั้งอำเภอปากท่อ พ.ศ.๒๕๔๒
ได้รับพระราชทาน รางวัลเสาเสมาธรรมจักร ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประเภทส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา สาขาการแต่งหนังสือทางพระพุทธศาสนา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๓
ได้รับโล่เชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็น ศิลปินดีเด่นจังหวัดราชบุรี สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๕
ได้รับการประกาศนามจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็น ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นจังหวัดราชบุรี สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๘
ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัล บทความดีเด่นรางวัลพลเรือตรี กวีสิงหะ ประจำปี ๒๕๔๘  ในฐานะผู้เขียนบทความเรื่อง “การบริหารงานด้วยระบบสามัคคีธรรม” ลงพิมพ์ในนิตยสาร นาวิกศาสตร์ ฉบับประจำเดือนเมษายน ๒๕๔๘ 
ได้รับโล่ พ่อดีเด่น ของเทศบาลเมืองราชบุรี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ 
ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติเป็น ต้นแบบคนดี ๖๐ ปีในหลวง จังหวัดราชบุรี โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๙
ได้รับแต่งตั้งให้เป็น อนุกรรมาธิการกฎหมายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในคณะกรรมาธิการการศาสนา จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๙
ได้รับปริญญา ศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิยาลัย เมื่อ ๒๐ พฤษภาคม๒๕๕๐
ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ด้านศาสนา เมื่อ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๐
ได้รับพระราชทาน รางวัลที่ ๓ ในการแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ เรื่อง “พระรัตนตรัย”
ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติเป็น บุคคลดีเด่นเกียรติยศนาวี ปี ๒๕๕๑ สาขาการพัฒนาสังคม จากกองทัพเรือ เมื่อ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
ได้รับยกย่องให้เป็น กวีร่วมสมัยดีเด่น ปี ๒๕๕๑ จากมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช และสมาคมกวีร่วมสมัย เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๑
ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติเป็น ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒
ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติในฐานะ ผู้มีผลงานดีเด่นในสาขาวิชาภาษาไทย ด้านวรรณกรรม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ จากมูลนิธิจำนงค์  ทองประเสริฐ  เมื่อ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ได้รับรางวัล พุทธคุณูปการ ประเภทกาญจนเกียรติคุณ (ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ด้วยความตั้งใจ ทุ่มเท เสียสละ และอุทิศชีวิต เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและปกป้องพระพุทธศาสนา อันสมควรได้รับการยกย่อง เชิดชู ประกาศเกียรติคุณ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเกียรติประวัติสืบไป) จากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๓
ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศ “ครอบครัวไทยมีสุข สภาสตรีแห่งชาติฯ” ครั้งที่ ๒ ประจำปี ๒๕๕๔ ณ วังศุโขทัย จัดโดย สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ ประเภททำคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติดีเด่น “รางวัลคชจักร” ครั้งที่ ๑ ปี ๒๕๖๒
ได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปะและวัฒนธรรม (สาขาศาสนา) “รางวัลมณีกาญจน์” ครั้งที่ ๒ ปี ๒๕๖๓
ได้รับ “รางวัลแมวมอง” ของมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ประจำปี ๒๕๖๓
ได้รับปริญญา พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิยาลัย เมื่อ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๓
 
 
 
 
การทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม
กิจกรรมทางสังคม
เป็นวิทยากรโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ของสำนักงานคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน กพ.)
เป็นมรรคนายก (คนวัด) ประจำวัดมหาธาตุ ราชบุรี
เป็นผู้นำผู้รักษาอุโบสถศีลของวัดมหาธาตุ ราชบุรี
เป็นประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ตั้งแต่ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘ ถึง เดือ

บทความที่เกี่ยวข้อง

แบบสำรวจ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้