พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง โดยมี พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน เฝ้า ฯ รับเสด็จ ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๗
การนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชา พระพุทธนวราชบพิตร ทรงศีล พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รองศาสตราจารย์ วัชรีวรรณ ทองสะอาด ภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และพลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาในการต่อเรือหลวงช้าง และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ ไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง
จากนั้นเสด็จขึ้นเรือหลวงช้าง บริเวณดาดฟ้าหลัก (Main deck) (ทางบันได) ทรงทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือตรี อารยะ สิงหเสมานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ กราบบังคมทูลรายงาน นาวาเอก ธีรสาร คงมั่น ผู้บังคับการเรือหลวงช้าง กราบบังคมทูลรายงานและกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ รับการถวายความเคารพยิงสลุตหลวง เสด็จขึ้นแท่น ณ พระสุจหนี่ รับการถวายการยิงสลุตหลวงทรงผินพระพักตร์ไปทางเรือหลวงปิ่นเกล้า ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้ายิงสลุตหลวงจำนวน ๒๑ นัด เสร็จแล้วเสด็จ ฯ ไปยังบริเวณหัวเรือ เรือหลวงช้าง ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมที่แผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ลำนี้ว่า “เรือหลวงช้าง” ชื่อภาษาอังกฤษ “H.T.M.S. CHANG” ตามชื่อของหมู่เกาะช้างในจังหวัดตราด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพเรือ ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย จากนั้นทรงคล้องพวงมาลัยบริเวณแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง แล้วเสด็จออกจากบริเวณหัวเรือ ไปยังห้องประทับรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปยังห้องโถงนายทหาร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอกอะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เรือหลวงช้าง (จำลอง) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ น้อมเกล้า ฯ ถวายลองลูกปืนยิงสลุตหลวงนัดแรก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลเรือตรี อารยะ สิงหเสมานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ ทูลเกล้า ฯ ถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้าง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ นาวาเอก ธีรสารคงมั่น ผู้บังคับการเรือหลวงช้าง เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้าง แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี แล้วทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีและนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ จำนวน ๑ ชุด
เวลา ๑๗.๔๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังห้องสะพานเดินเรือทอดพระเนตรภายในห้องสะพานเดินเรือ โดยสะพานเดินเรือ หรือ ห้องควบคุมการเดินเรือ มีไว้สำหรับควบคุมการเดินเรือ เพื่อให้เรือสามารถเดินทางไปได้อย่างปลอดภัยและถึงที่หมายอย่างตรงเวลา โดยมีนายยามเรือเดินซึ่งได้รับแนวทางและคำสั่งการของผู้บังคับการเรือ ตามระเบียบของกองทัพเรือ ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการบนสะพานเดินเรือ
สำหรับสะพานเดินเรือ เรือหลวงช้างนั้น มีอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการนำเรือที่ทันสมัย อาทิเช่น เรดาร์เดินเรือจำนวน ๒ ตัวแบบ x-band และ s-band แผนที่อิเล็คทรอนิกส์ จีพีเอสสำหรับการนำเรือ ระบบกล้องวงจรปิด ที่สามารถใช้ตรวจสอบในขณะปฏิบัติการยกพลและขณะปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือกับอากาศยาน รวมทั้งระบบถือท้ายที่ทันสมัยเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย
จากนั้น เสด็จฯ ไปยังบริเวณหัวเรือ เสด็จขึ้นแท่น ประทับยืน ณ พระสุจหนี่ ทรงผินพระพักตร์ไปทางเรือหลวงปิ่นเกล้า ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวงจำนวน ๒๑ นัด เสร็จสิ้นแล้วเสด็จลงจากแท่นรับการถวายการยิงสลุตหลวงไปยังบันไดทางลงเรือ ทรงทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ เสด็จลงจากเรือหลวงช้างไปยังพลับพลาพิธีทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทกเสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
ทั้งนี้ เรือหลวงช้าง เป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ลำใหม่ ที่กองทัพเรือได้ว่าจ้าง บริษัท China Shipbuilding Trading (CSSC) ให้ต่อขึ้น ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้รับการปรับปรุงและพัฒนาแบบมาจากเรือ LPD Type 071 ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน มีขีดความสามารถในการควบคุมบังคับบัญชา การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และมีขีดความสามารถในการลำเลียงกำลังรบยกพลขึ้นบกจำนวน ๖๕๐ นาย มียานรบประเภทต่าง ๆ รวมถึงยุทโธปกรณ์ อีกทั้งสามารถปฏิบัติงานร่วมกับอากาศยานของกองทัพเรือได้ทุกประเภท ใช้ระยะเวลาในการต่อเรือ ๔ ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๖ โดยมี พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น เดินทางไปเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือหลวงช้าง ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างการเดินทางกลับ เรือหลวงช้างได้ประกอบกำลังเดินทางกับเรือหลวงนราธิวาส รวมทั้งทำการฝึกการปฏิบัติงานในสถานีเรือต่าง ๆ เพื่อให้กำลังพลและเรือมีความพร้อมปฏิบัติราชการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายทันทีที่เดินทางกลับมาถึง
เรือหลวงช้างลำใหม่นี้เป็นเรือหลวงช้างลำที่ ๓ ของราชนาวีไทย มีความยาวตลอดลำ ๒๑๐ เมตร ความกว้าง ๒๘ เมตร กินน้ำลึก ๗ เมตร ระวางขับน้ำ ๒๕,๐๐๐ ตัน มีกำลังพลประจำเรือ ๑๙๖ นาย แบ่งเป็น นายทหารสัญญาบัตร ๒๖ นายพันจ่า ๓๙ นาย จ่า ๙๖ นาย และพลทหาร ๓๕ นาย โดยได้เข้าประจำการในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งและลำเลียง อีกทั้งเป็นเรือบัญชาการและมีภารกิจรองในการสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ อาทิ การช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย (HADR) การอพยพประชาชน การสนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ทร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ทร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้